ผู้ป่วยมีอาการหลงผิดที่ไม่มีลักษณะแปลกพิกล (nonbizarre delusion) เนื้อหาของความหลงผิดมักเกี่ยวพันเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวในแนวทางเดียวกัน (systematized delusion) การพูดจาท่าทางต่างๆ ดูปกติ ไม่มีพฤติกรรมที่เห็นชัดว่าแปลก การแสดงออกของอารมณ์มักเหมาะสมกับเรื่องราวที่เล่า ไม่พบว่ามีประสาทหลอนหรือถ้ามีก็เป็นครั้งคราวไม่เด่นชัด เป็นนานอย่างน้อย 1 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ของตนได้ตามปกติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหลงผิดของตนเอง
โรคนี้มักเกิดในช่วงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ ผู้ป่วยบางคนอาจเก็บตัวไม่เข้าสังคม ช่างระแวง มีท่าทีไม่เป็นมิตร บางครั้งอาจมีพฤติกรรมรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาการหลงผิดของตนเอง
การจำแนกกลุ่มย่อย
- Erotomanic type หลงผิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักตนเอง โดยบุคคลนั้นมักเป็นผู้ที่มีความสำคัญ หรือมีชื่อเสียง
- Grandiose type เชื่อว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น มีความหยั่งรู้พิเศษ หรือหลงผิดว่าตนเองเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญ
- Jealous type หลงผิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ
- Persecutory type ระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หรือวางยาพิษ เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด
- Somatic type หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง เช่น หลงผิดว่าบางส่วนของร่างกายผิดรูปร่าง น่าเกลียด หรืออวัยวะบางอวัยวะไม่ทำงาน
(1733)