สาระน่ารู้ แบคทีเรียคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?

แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราได้ศึกษาเรียนรู้กันมาตั้งแต่มัธยม ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากจนตามองไม่เห็น ซึ่งวันนี้ RealMetro จะพาทุกคนไปเรียนรู้ให้ลึกขึ้นว่าแท้จริงแล้วแบคทีเรียคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อมนุษย์ หรือ มีโทษต่อเรามากน้อยแค่ไหน? มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันดีกว่า แบคทีเรียมีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งในสิ่งแวดล้อมจนแทบจะหาที่ที่ปราศจากแบคทีเรียได้ยากมาก คนเรามักจะนึกถึงแบคทีเรียในด้านการให้โทษ เช่น ทำให้เกิดโรคในคน สัตว์ และพืช อาหารเน่าเสียเป็นพิษ และน้ำเน่าเสียเป็นต้น ในความเป็นจริงแล้วแบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่มีโทษ มีแบคทีเรียที่ให้ประโยชน์มากมายในธรรมชาติ

แบคทีเรียคืออะไร?

แบคทีเรีย (Bacteria) เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (Microorganism) มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม แบคทีเรียบางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ ในขณะเดียวกันก็มีแบคทีเรียบางชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง แบคทีเรียส่วนใหญ่สามารถอยู่เป็นอิสระนอกร่างกายมนุษย์ได้ มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของมนุษย์เพื่อการดำรงชีวิต หากแบคทีเรียหายไปจากโลกนี้ทั้งหมด มนุษย์และสัตว์จะตายลงในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

แบคทีเรียก่อโรคได้อย่างไร?

แบคทีเรียก่อโรค หรืออาจเรียกว่า การติดเชื้อ หรือการอักเสบติดเชื้อ (Infection) ให้แก่มนุษย์ได้ด้วยวิธีการหลายอย่างเช่น

1.สร้างสารพิษ (Toxin) ออกมาจากตัวแบคทีเรีย และสารพิษนั้นจะทำลายเซลล์ของมนุษย์หรือทำให้เซลล์ของมนุษย์ทำหน้าที่ผิดไปเช่น เชื้อสแตฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) จะสร้างสารโคแอกูเลส (Coagulase) คอยขัดขวางการแข็งตัวของเลือด หรือเชิ้ออีโคไล (E. coli หรือ Escherichia coli) สร้างสารพิษเอ็นโดท็อกซิน (Endotoxin) ทำให้เกิดภาวะช็อก

2.กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองด้วยการอักเสบ เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่มีการติดเชื้อ และผลของการอักเสบส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ใกล้เคียง และเกิดอาการไข้ตัวร้อน

3.แบคทีเรียบางชนิดจะเข้าไปอยู่ภายในเซลล์ของมนุษย์ แย่งอาหารของเซลล์ และทำให้เกิดการตายของเซลล์

แบคทีเรียจะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณในร่างกายมนุษย์และแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ โดยไปทางหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือด เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (เลือด) หรือ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia) ก่อให้เกิดการอักเสบและการทำลายอวัยวะอื่นๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อ (Septic shock) และเสียชีวิตได้

1.ทีเรียสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ในซากสิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารในสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์

2.แบคทีเรียในของเสียเก่งมากในเรื่องการสร้าง วิตามิน บี12 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ช่วยสร้างเซลล์ประสาทให้แข็งแรงที่จริงแล้ว วิตามิน บี12 แบบเสริมที่คุณรับประทานก็ผลิตขึ้นจากแบคทีเรียเหล่านี้

3.คนเรายังนำแบคทีเรียมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เช่น ผลิตกรดแลคติค กรดอะมิโน น้ำส้มสายชู น้ำปลา นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ผลิตยาปฏิชีวนะบางชนิด ใช้ฟอกหนัง

4.ใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์และใช้ในงานเทคโนโลยีชีวภาพนอกจากนี้ยังเริ่มมีการนำแบคทีเรียบางชนิดมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดวัชพืช เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจ

5.แบคทีเรียจำนวนมากมายอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการ สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมเช่น ผิวหนัง ทางเดินหายใจส่วนต้น ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ใหญ่ และอวัยวะสืบพันธุ์ แบคทีเรียเหล่านี้ให้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของทารก ช่วยป้องกันการบุกรุกของเชื้อก่อโรค ช่วยสร้างวิตามินและสารอื่นๆที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมอาหาร

มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า แบคทีเรียบางชนิด เช่น แลคโตบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรียมบางสายพันธุ์ มีความสามารถช่วยป้องกันและรักษาโรค เช่น ท้องเสียอันเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียก่อโรค แผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ และโรคภูมิแพ้แบบต่างๆเป็นต้น

โทษของแบคทีเรีย

1. ผลิตสารพิษที่เป็นอันตราย

2. ทำให้เกิดโรคต่างๆ ใน คน เช่น ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค ปอดบวม วัณโรค คอตีบ สัตว์ เช่น แอนแทรกซ์ บาดทะยัก และพืช เช่น โรครากเน่า โรคใบไม้ของสาลี่

3.เป็นต้นเหตุของอาการคัน การเป็นสิวอักเสบ หรือ เกิดแผลเรื้อรังติดเชื้อ

4.เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง และทำให้อวัยวะภายในทำงานผิดปกติได้

Related image

เราจะป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อันตรายได้อย่างไร?

1.รักษาความสะอาดส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง จะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดจากมือที่สกปรกเข้าทางปากได้ ล้างมือหลังอุจจาระและปัสสาวะทุกครั้ง อาบน้ำให้ร่างกายสะอาดทุกวัน เลือกดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกแล้ว เพราะอาหารที่ปรุงไม่สุกอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียปะปนมาได้ (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน หรือ สุขบัญญัติแห่งชาติ)

2.รู้จักป้องกันตนเองจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเช่น ใช้หน้ากากอนามัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น

3.รักษาสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นที่สะสมและเพาะเชื้อแบคทีเรียได้

4.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่น ไม่กลั้นปัสสาวะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ไม่กินยากดภูมิต้านทานโดยไม่จำเป็นเช่น ยาพวกสเตียรอยด์ที่ผสมในยาชุดหรือยาลูกกลอน เป็นต้น ถ้ามีโรคประจำตัวที่ทำให้ติดเชื้อง่ายเช่น โรคเบาหวาน ก็ควรทานยาควบคุมน้ำตาลอย่าให้ขาดเพราะการมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย

5.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มีวัคซีนป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และกระ ทรวงสาธารณสุขเช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรน และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เป็นต้น (เมื่อสนใจในเรื่องวัคซีนควรสอบถามจากแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขในสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน)

Photo by Dani Ramos on Unsplash
Story by haamor.

(44090)