ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือกับพายุไต้ฝุ่น Hagibis ที่จะเข้าถล่มโตเกียวในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ 

พยากรณ์อากาศของญี่ปุ่นรายงานว่าพายุจะเคลื่อนผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของโตเกียว หนึ่งในเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทางการจึงแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือกับพายุลมและฝนรุนแรงที่จะกระหน่ำในช่วงสุดสัปดาห์นี้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวว่า Hagibis ได้เพิ่มกำลังขึ้นจนกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น โดยเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือใกล้กับเกาะ Ogasawara ในมหาสมุทรแปซิฟิกเวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันพฤหัสบดี และจะมาถึงโตเกียวในวันนี้

ด้านการรถไฟในโตเกียวประกาศหยุดเดินรถผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย โดย JR East กล่าวว่าผู้ใช้บริการควรติดตามประกาศจากทางบริษัท เนื่องจากทางบริษัทอาจต้องหยุดดำเนินการในรถไฟท้องถิ่นและรถไฟชินคันเซ็นด้วย ในขณะที่สายการบิน Nippon Airways และสายการบินอื่นๆ ได้ประกาศหยุดทุกเที่ยวบินในวันเสาร์นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Katsuyuki Kawai รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นก็ได้เตือนให้ผู้ที่พำนักอยู่ในโตเกียวติดตามรายการสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน โดยทุกคนสามารถตรวจสอบได้ทางทวิตเตอร์ของหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น Japan National Tourism Organization และแนะนำให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันที่ชื่อว่า “Safety Tips” ซึ่งเป็นของหน่วยงานการท่องเที่ยว ที่จัดให้สำหรับผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

นอกจากนี้พายุไต้ฝุ่นยังส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก หรือ Rugby World Cup อีกด้วย ทางผู้จัดงานได้ประกาศยกเลิกการแข่งขัน 2 นัดสำคัญ คือ การแข่งระหว่างนิวซีแลนด์กับอิตาลี และคู่อังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันระดับโลกต้องถูกระงับ และจะทำให้เกมถูกบันทึกไว้ว่าผลการแข่งขันคือเสมอกัน สำหรับอีก 4 นัดที่อยู่ในตารางของวันอาทิตย์ ทางผู้จัดยังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะดำเนินการแข่งต่อไปหรือไม่

ไต้ฝุ่น Hagibis เป็นกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางของพื้นที่ที่มีลมแรงที่สุด (ความเร็วมากกว่า 54 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ประมาณ 1,400 กม. ซึ่งนับเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวของหมู่เกาะญี่ปุ่น ทำให้พายุมีความยาวนานขึ้นและส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว้างขึ้น โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวว่านี่คือพายุไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยพัดเข้าถล่มโตเกียวและภูมิภาคนี้

หากต้องการติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์พายุ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ NHK ได้ตลอดเวลา

(1673)