ท่ามกลางกระแสความอดอยากของเหล่าหมีขั้วโลก ที่ประสบปัญหาอาหารขาดแคลนจนเกิดภาวะผอมโซ ยังมีหมีตัวหนึ่งที่สวนกระแสนี้อย่างสิ้นเชิง มันคือ เจ้าอ้วนอัลเบิร์ต หรือ ‘Fat Albert’ ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวท้องถิ่นใช้เรียกมัน
หมีขั้วโลกโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 450 กิโลกรัม หรือ 71 สโตน ขณะที่เจ้าอัลเบิร์ตมีน้ำหนักถึง 679 กิโลกรัมหรือประมาณ 107 สโตนเลยทีเดียว (สโตน-หน่วยวัดมวลและน้ำหนักในระบบอังกฤษ เคยเป็นที่นิยมใช้ในประเทศเครือจักรภพแห่งชาติ มีค่าเท่ากับ 14 ปอนด์ หรือประมาณ 6.35 กิโลกรัม)
ทำไมมันถึงมีน้ำหนักเกินมาตรฐานและมีสีขนแตกต่างจากหมีขั้วโลกทั่วไปขนาดนี้?
เนื่องจากอัลเบิร์ตมีถิ่นอาศัยตามธรรมชาติใกล้กับหมู่บ้าน Katovik รัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะล่าวาฬกันเป็นประจำ พวกเขาไม่เพียงแต่เก็บส่วนต่างๆ ของวาฬไว้ขายเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความเคารพสัตว์เจ้าถิ่นด้วยการแบ่งเนื้อวาฬโยนไว้ระหว่างทาง แล้วเจ้าถิ่นจะเป็นใครไปได้ นอกจากหมีหนึ่งเดียวในระแวกนี้
Edward Boudreau ช่างภาพมืออาชีพผู้ถ่ายภาพเจ้าอัลเบิร์ตไว้ได้ กล่าวว่า “ชาวบ้านล่าวาฬและมักจะตัดเนื้อชิ้นใหญ่ทิ้งไว้ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 ไมล์ เพื่อให้หมีสามารถกินชิ้นเนื้อนั้นได้ การที่พวกเขาทำแบบนี้มีสองเหตุผลด้วยกัน คือหนึ่ง พวกเขาต้องการป้องกันหมีไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน และสองคือพวกเขาต้องการแสดงความเคารพต่อหมี ซึ่งทำเป็นประเพณีมาหลายพันปีแล้ว แต่หากพวกเขาไม่สามารถล่าวาฬได้ พวกมันก็ต้องลงน้ำเพื่อจับแมวน้ำกินเอง”
เป็นไปได้ว่าเจ้าหมีคงไม่ได้ลงน้ำหากินเองมานานพอสมควรแล้ว มันจึงมีสีขนอย่างที่เห็นกัน
แม้ว่าเจ้าอัลเบิร์ตจะใหญ่โตถึงเพียงนี้ แต่มันก็ยังไม่ใช่เจ้าของสถิติโลก เพราะหมีขั้วโลกที่ได้รับการบันทึกว่าตัวใหญ่ที่สุดในโลก คือหมีขั้วโลกที่ไม่มีชื่อเรียก ซึ่งมีน้ำหนักถึง 1,001 กิโลกรัม หรือ 157.7 สโตน ที่ถูกพบในปี 1960
ที่มา Unilad
(6297)