จีนมีแผนจะส่งเป็ดจำนวน 1 แสนตัวไปยังประเทศปากีสถาน หลังจากถูกรุกรานโดยฝูงตั๊กแตนที่อพยพจากแอฟริกาและทำลายพืชผลทางการเกษตร
ก่อนหน้านี้แอฟริกาตะวันออกประสบปัญหาฝูงตั๊กแตนทำลายพืชผลทางการเกษตร ล่าสุดปากีสถานประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากตัวเลขจำนวนตั๊กแตนพุ่งสูงที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ
รัฐบาลจีนออกประกาศสัปดาห์นี้ว่าได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปยังปากีสถานเพื่อพัฒนาโครงการต้านฝูงตั๊กแตน Lu Lizhi ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การเกษตรเจ้อเจียงกล่าวว่า เป็ดคืออาวุธทางชีวภาพที่ดี ขณะที่ไก่จะสามารถกินตั๊กแตนได้วันละ 70 ตัว แต่เป็ดสามารถทำได้มากกว่านั้นถึง 3 เท่า โดยเป็ดเพียง 1 ตัวจะสามารถกินตั๊กแตนได้มากกว่า 200 ตัวต่อวัน ซึ่งมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่ายาฆ่าแมลง
นอกจากนี้เป็ดยังชอบอยู่อาศัยรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ทำให้ง่ายต่อการควบคุม โดยฝูงเป็ดส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปยังซินเจียงตะวันตกในเดือนหน้า หลังจากนั้นพวกมันจะถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่สุดในปากีสถาน ได้แก่ แคว้นสินธ์ (Sindh) บาลูจิสถาน (Balochistan) และ ปัญจาบ (Punjab) ซึ่งในปี 2000 จีนก็เคยส่งเป็ด 30,000 ตัว จากมณฑลเจ้อเจียงไปยังซินเจียง เพื่อกำจัดตั๊กแตนมาแล้ว
อีกด้านหนึ่ง Zhang Long ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยการเกษตรของจีนก็ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้เป็ดกำจัดตั๊กแตนจะได้ผลเพียงใด เนื่องจากเป็ดนั้นชอบอยู่ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของปากีสถานมีสภาพเป็นทะเลทรายซึ่งไม่มีน้ำ และอากาศร้อนจัด แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจเท่านั้น
ตามรายงานของยูเอ็นกว่าวว่า ฤดูพายุไซโคลนในช่วงปี 2018-2019 บริเวณคาบสมุทรอาหรับ เอื้อต่อการผสมพันธุ์ของตั๊กแตนมากถึงสามรุ่นเป็นอย่างต่ำ ทำให้จำนวนของมันพุ่งสูงกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อเอเชียใต้ และแอฟริกาตะวันออก
เมื่อเดือนมกราคม ยูเอ็นได้เรียกร้องให้ทั่วโลกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการต่อสู้กับภัยตั๊กแตนในแอฟริกา โดยเอธิโอเปีย เคนยา และโซมาเลีย ต่างก็ดิ้นรนต่อสู้กับฝูงแมลงที่ทำลายล้างอาหารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ที่มา BBC
(9424)