ความสวยงามของริบบิน 120,000 ชิ้น ในโอกาสครบรอบ 30 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้นช่วงสงครามเย็น ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1961 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันตกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตก กับเยอรมนีตะวันออกที่โอบอยู่โดยรอบ มีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตร และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านทุนนิยม

แม้ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “แนวป้องกันการต่อต้านฟาสซิตส์” แต่สำหรับโลกเสรีแล้ว มันคือสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมของยุโรปตะวันตก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กับระบบคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออก ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต ได้มีการทดลองการปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้ในเยอรมนีตะวันออกมีการชุมนุมประท้วงใหญ่อย่างสงบขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1989 และดำเนินเรื่อยมา เป็นเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก

กระทั่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 จึงได้มีการประกาศว่าจะเปิดพรมแดนให้ชาวเยอรมันสามารถเดินทางผ่านแดนได้อย่างอิสระ  ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากจึงได้มารวมตัวกันเพื่อข้ามผ่านแดนไปยังเบอร์ลินตะวันตก จึงถือเอาวันดังกล่าว เป็นวันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ปิดฉากกำแพงแห่งความขัดแย้งที่สร้างความสลดใจให้ผู้คนที่พยายามข้ามกำแพงนี้และถูกสังหารกว่า 100 คนตลอดระยะเวลา 28 ปี

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 30 ปี จึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นและมีไฮไลต์ของงานอยู่ที่ผลงานศิลปะที่เรียกว่า Kinetic art หรือผลงานศิลปะที่มีการเคลื่อนไหว จากการติดริบบิ้นผ้าหลากสีสันจำนวน 120,000 ชิ้นสร้างสรรค์โดยทีมออกแบบ Poetic Kinetics 

Patrick Shearn และทีมของเขาได้ใช้ผลงานที่วางเป็นแนวยาวตลอดทางเดินด้านหน้าประตู Branderburg นี้ในการแสดงออกถึงการหลอมรวมกันของผู้คนชาวเยอรมันหลังจากที่กำแพงถูกทำลายลง โดยในริบบิ้นแต่ละชิ้นจะมีข้อความที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ความหวัง ความยินดี และคำอวยพร ที่เขียนโดยคนเยอรมันเองและผู้คนจากทั่วโลกที่มาร่วมงานนี้

เชือกความยาวประมาณ 9,500 ฟุต ถูกนำมาใช้เพื่อแขวนริบบิ้นทั้งหมด และจะใช้กระแสลมธรรมชาติในการสร้างการเคลื่อนไหวเป็นคลื่นที่สวยงามดึงดูดผู้คนให้เดินเข้าไปอยู่ท่ามกลางข้อความอันน่าประทับใจเหล่านั้น

(306)