โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย เพลง ลิลิต กลบท คำประพันธ์ สารพันบทกวีที่อยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาช้านาน เป็นที่นิยมและถูกประพันธ์ขึ้นอย่างแพร่หลายในทุกยุคสมัยทั้งจากชาวบ้าน ขุนนาง หรือแม้แต่กษัตริย์ไทยหลายพระองค์ก็ทรงพระปรีชาสามารถในด้านนี้ บทกวีจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างมีเอกลักษณ์ และบทกวีทั้ง 10 เรื่อง ที่กล่าวถึงต่อไปนี้เป็นบทกวีที่บ่งบอกจิตวิญญาณของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ
- พระอภัยมณี
พระอภัยมณีเป็นหนึ่งในวรรณคดีที่โด่งดังที่สุดของประเทศไทย ประพันธ์ขึ้นโดยกวีเอก สุนทรภู่ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเนื้อหาเรื่องราวที่เข้มข้นทั้งยังมีความแฟนตาซี สิ่งวิเศษ และสิ่งเหนือธรรมชาติจนเป็นที่นิยม และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทานพื้นบ้านไทย นอกจากนี้ยังมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ แอนิเมชัน และหนังสือการ์ตูน ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้โด่งดังจนผ่านสายตาของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางท่านวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องนี้ว่าเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมเรื่องเยี่ยมของประเทศไทย เช่น การเมือง และการล่าอาณานิคมจากต่างประเทศ
- ลิลิตยวนพ่าย
ลิลิตยวนพ่าย เป็นหนึ่งในวรรณกรรมไม่กี่ชิ้นที่มีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น บทกวีบอกเล่าเรื่องราวของความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนา ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเป็นมาของชาวไทย
- ท้าวฮุ่งท้าวเจือง
แม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะไม่ใช่บทกวีจากคนไทยโดยตรง แต่ท้าวฮุ่งท้าวเจือง ก็เป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะมหากาพย์บทกวีเรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานภาษาไทชิ้นแรก ๆ ก่อนที่คนไทจะแยกออกเป็นประเทศต่าง ๆ และแม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะเป็นของประเทศลาว แต่เนื้อหาภายในมีข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนที่แผ่นดินจะถูกแบ่งเป็นประเทศต่าง ๆ จึงกล่าวได้ว่าบทกวีเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาอารยธรรมโบราณของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับมหากาพย์อีเลียตของยุโรปหรือรามายณะของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ไท – ลาว ซึ่งแสดงถึงอารยธรรม วิถีชีวิต และพิธีกรรมทางศาสนา ตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย
- ลิลิตตะเลงพ่าย
ลิลิตตะเลงพ่าย ประพันธ์โดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ บอกเล่าถึงความพยายามอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในการปลดปล่อยสยามจากการควบคุมของพม่า และเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการกล่าวขานโดยคนไทยจำนวนมาก ทั้งยังมีการนำเรื่องราวนี้มาทำเป็นภาพยนตร์สะท้อนความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมในอดีตซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ
- ขุนช้างขุนแผน
ขุนช้างขุนแผนเป็นบทกลอนมหากาพย์ความรักของหนึ่งหญิงสองชาย ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวรักสามเส้าของ ขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทอง วรรณกรรมเรื่องป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่สะท้อนค่านิยม เจตคติ วิถีชีวิต และความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อนอย่างแท้จริง เนื้อหาภายในเกี่ยวข้องทั้งสถานะทางสังคม ค่านิยมความคิด ประเพณี วัฒนธรรม หรือแม้แต่ไสยศาสตร์ และความเชื่อ จึงอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้คือวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศไทยสมัยก่อน อันเป็นรากฐานของจิตวิญญาณไทยในปัจจุบัน
- มือนั้นสีขาว
มือนั้นสีขาว คำประพันธ์ร่วมสมัยของศิลปินแห่งชาติอย่าง ศักดิ์สิริ มีสมสืบ วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ในปี 2535 โดยเนื้อหาในวรรณกรรมเรื่องนี้นั้นเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสังคมและปัญหาในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 2503 และ 2513 ซึ่งร้อยเรียงเรื่องราวผ่านบทร้อยกรองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ อารมณ์ จินตนาการ ผ่านมุมมองความเป็นเด็ก ซึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านตัวหนังสือนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าความสวยงาม แต่ยังสอดแทรกศาสนา, ความเชื่อโชคลาง, จิตวิญญาณที่ไม่ถูกเติมแต่ง, วัฏจักรของความรุนแรง, การสูญเสีย, ความเห็นอกเห็นใจ และสถานะในสังคมปัจจุบัน
- นิราศภูเขาทอง
อีกหนึ่งผลงานชิ้นกวีเอก สุนทรภู่ นิราศภูเขาทองเป็นบทกลอนที่มีเรื่องราวสั้น ๆ เกี่ยวกับการไปเที่ยวภูเขาทองเพื่อทำบุญ แต่ด้วยมีวาทศิลป์ที่แสดงผ่านบทกวีทำให้บทกลอนเรื่องนี้โดดเด่น และมีความพิเศษมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความรู้สึก และจิตวิญญาณของเรื่องไปในตัว โดยส่วนสุดท้ายของบทกวีอุปมาถึงความไม่เที่ยงกับสภาพของเจดีย์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
- มหาชาติคำหลวง
วรรณกรรมที่แปลจากพระไตรปิฎกเรื่องเวสสันดรชาดก เรื่องนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลและแต่งที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพ.ศ. 2025 เป็นสิ่งสะท้อนศาสนา ความเชื่อ และประเพณีที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน
- ยิ้มของแม่โพสพ
บทกวีสั้น ๆ บทนี้อยู่ในวรรณกรรมซีไรต์เรื่อง ใบไม้ที่หายไป ประพันธ์โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา นักประพันธ์ และนักสตรีนิยมชาวไทย รอยยิ้มของแม่โพสพ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของข้าวในวัฒนธรรมไทย บทกวีลีลาอันมีวาทศิลป์ที่สร้างภาพการทำงานอย่างหนักของสตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาในภาคเกษตร ซึ่งมีการเลียนเสียงความเคลื่อนไหวทำให้บทกวีลึกซึ้ง และสะท้อนภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
- รามเกียรติ์
รามเกียรติ์ มหากาพย์บทกวีของไทยที่ดัดแปลงมาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน แต่มีการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมบริบทของไทยลงไป เช่น ภูมิทัศน์ อาวุธ เสื้อผ้า และตัวละคร รามเกียรติ์สะท้อนความคิด และความเชื่อเรื่องเทพ เทวดา และไสยศาสตร์ที่มีมาก่อนพุทธศาสนา ซึ่งหล่อหลอมรวมไปกับวรรณคดีเรื่องนี้อย่างลงตัว จนเกิดเป็นวัฒนธรรม และศิลปะไทยที่มีเอกลักษณ์หลายอย่าง เช่น โขน และจิตรกรรมฝาผนังตามวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
(9953)