สมุนไพรคือพืชที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาโรคต่าง ๆ และเป็นยาบำรุงให้แก่ร่างกายมนุษย์ แต่สมุนไพรบางชนิดก็แอบแฝงอันตรายเอาไว้ หากเราไม่ทราบวิธีกำจัดพิษออกก็จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของเราได้
บอน
เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Araceae อวบน้ำ มีหัวใต้ดิน ใบรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเว้าลึกรูปสามเหลี่ยม ก้านใบสีเขียวหรือออกม่วง ดอกมีสีครีมหรือเหลืองนวลออกเป็นช่อ ส่วนของหัวที่อยู่ใต้ดินสามารถนำมารับประทานได้ นิยมใช้เป็นยาระบาย หรือเอาไว้ห้ามเลือด ส่วนก้านใบเอาไปคั้นเป็นยานวดแก้ฟกช้ำได้ แต่น้ำยางและลำต้นของต้นบอนหากสัมผัสถูกผิวหนัง จะทำให้เกิดอาการคันและปวดแสบปวดร้อน ต่อมาอาจเกิดอาการอักเสบ บวมพองเป็นตุ่มใส หากนำมาเคี้ยวหรือรับประทานสดจะทำให้เกิดอาการคันคออย่างรุนแรง ทำให้พูดจาลำบาก หากมีอาการเป็นพิษรุนแรงจะทำให้พูดไม่ได้ ลิ้นหนัก คันปาก ลำคอบวมและอักเสบ
กลอย
พืชไม้เถาเลื้อยอยู่ในวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) ที่คนมักนำหัวของมันมาประกอบอาหาร ลักษณะคือ มีหัวใต้ดินกลมรี มีรากเล็ก ๆ กระจายทั่ว เปลือกบางสีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อในหัวสีขาวหรือสีเหลือง กลอย พบตามธรรมชาติในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี ส่วนที่อันตรายและเป็นพิษถึงตายได้คือส่วนเนื้อในทั้งหมดของหัวกลอย ยิ่งกลอยที่มีขนาดใหญ่และอายุนานจะมีปริมาณสารพิษมากกว่ากลอยขนาดเล็ก หากรับประทานโดยที่ไม่กำจัดสารพิษออกให้หมด จะมีอาการใจสั่น คันบริเวณลำคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก หน้าซีด ตาพร่า รู้สึกหายใจอึดอัดคล้ายกับจะเป็นลม และอาจจะมีประสาทหลอน ถ้ารับประทานเข้าไปมาก ๆ พิษของกลอยสามารถทำให้เสียชีวิตได้ วิธีกำจัดพิษในเนื้อกลอยคือต้องหั่นบาง แล้วนำไปต้มในน้ำเกลือและน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง
หมามุ่ย
เป็นพืชเถาซึ่งมีขนคันจากฝัก เมื่อถูกผิวหนังทำให้คัน ลัษณะคือ มีใบรูปร่างคล้ายรูปไข่ ตัวใบบางและมีขนทั้งสองด้าน ดอกสีม่วงดำ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ มีเมล็ด 4 – 7 เมล็ด ฝักจะมีขนอ่อนคลุม ซึ่งฝักแก่นี้เองจะกลายเป็นพืชที่มีพิษ เมื่อสัมผัสกับขนพิษ ปลายยอดของขนจะแตกออกและฉีดสารพิษออกมา ทำให้ผิวหนังบวมแดง คันและปวดแสบปวดร้อน วิธีรักษาคือ กำจัดขนพิษออกจากบริเวณที่สัมผัส โดยใช้เทียนไขลนไฟให้อ่อนตัว หรือข้าวเหนียวคลึงจนเนื้อข้าวเหนียวกลืนกัน แล้วนำมาคลึงบริเวณที่สัมผัสขนหลาย ๆ ครั้งจนหมด แม้เราจะคุ้นชินว่าหมามุ่ยเป็นพืชที่ทำให้คัน แต่หมามุ่ยก็มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเราอีกด้วย เช่น ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยเพิ่มปริมาณของฮอร์โมนเพศ เพิ่มการเผาผลาญและมวลของกล้ามเนื้อ และช่วยแก้อาการไอ
เผือก
เป็นพืชล้มลุกอายุยืนในวงศ์ Araceae มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ก้านดอกอวบใหญ่ สั้นกว่าก้านใบ เผือกอันตรายหากรับประทานดิบ เพราะมีผลึกแคลเซียมออกซาเลตที่ไม่สามารถละลายในน้ำและทำให้เกิดนิ่วในไต ผลึกส่วนใหญ่เป็นรูปเข็ม ความเป็นพิษน้อยลงเมื่อสุก จึงมีคำแนะนำให้กินนมหรืออาหารที่มีแคลเซียมสูงพร้อมกับเผือก
พลับพลึง
เป็นพรรณไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ และมีหัวอยู่ใต้ดิน พบได้ในประเทศจีน, ฮ่องกง, อินเดีย และญี่ปุ่น มีลักษณะคือ มีหัวอยู่ใต้ดิน ใบจะออกรอบ ๆ ลำต้น ลักษณะใบแคบยาวเรียวและอวบน้ำ ดอกจะออกเป็นช่อ ตรงปลายจะเป็นกระจุกมีประมาณ 12 – 40 ดอก มีสรรพคุณทางยาคือ ใช้รักษาอาการปวดเมื่อย เป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย แต่ในใบและหัวพลับพลึงมีสารไลโคริน หากรับประทานจะทำให้อาเจียน ท้องร่วงอย่างรุนแรง
ตีนเป็ดน้ำ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีน้ำยางและกลีบดอกสีขาว กลีบดอกมีความสวยงามตีนเป็ดน้ำมีผลทรงกลม คล้ายผลส้ม มีสีเขียว ผลของต้นตีนเป็ดน้ำ เนื้อในผล ใบ และน้ำยางจากต้นมีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและเป็นยาถ่าย หากรับประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษในน้ำยางสามารถใช้ประโยชน์ในการทำเป็นสารเคมีฆ่าเหาได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Medthai และ scimath
(6700)