การนอนเปรียบได้กับการปิดสวิทซ์การทำงานของบางส่วนในร่างกาย เพื่อเป็นการชาร์จพลังงานให้กับร่างกายและฟื้นฟูส่วนต่าง ๆ ให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงดั่งเดิม คนเราต้องนอนหลับในทุก ๆ วัน ตลอดชีวิตหากไม่พักผ่อนร่างกายจะเสื่อมโทรม เซลล์ต่าง ๆ จะเริ่มตายไป อวัยวะภายในจะทำงานหนักจนเสื่อมประสิทธิภาพและเราจะตายไปในที่สุด ในความเป็นจริงแล้วเราใช้เวลาไปกว่า 1/3 ของชีวิตไปกับการนอน แต่ทำไมเราถึงต้องนอนล่ะ? การนอนจะช่วยให้สภาพร่างกายฟื้นฟูขึ้นได้จริงหรอ? เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีของการนอนหลับกันดีกว่า
จุดประสงค์ของการนอนหลับ
ถึงแม้ว่าการนอนหลับนั้นจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่มีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการนอนที่ยังคงเป็นปริศนา ในช่วงไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมานี้เองที่เราเริ่มค้นพบความลับบางส่วนของการนอนหลับ มีอย่างน้อย 3 ทฤษฎีที่บอกว่าทำไมเราถึงต้องนอน แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าทฤษฎีใดคือสิ่งที่ถูกต้อง ในความเป็นจริงยังคงต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาจุดประสงค์อื่นของการนอน ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นนะที่ต้องนอนหลับพักผ่อน สัตว์อีกหลาย ๆ ชนิดก็มีการนอนหลับเช่นกัน แต่สัตว์บางชนิดถึงแม้จะหลับแต่สมองก็มีการทำงานอยู่ เช่น ช้าง เป็นต้น 🙂
1. ทฤษฎีการนอนหลับเพื่อพักฟื้น
ทฤษฎีนี้เป็นคำอธิบายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องนอน โดยทฤษฎีนี้เสนอว่าการนอนหลับจะช่วยทำให้เนื้อเยื่อกลับคืนสู่สภาวะปกติและเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับวันถัดไป ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยการกำจัดสารสื่อประสาทที่สะสมในสมอง รวมถึงการซ่อมแซมเนื้อเยื่อทั้งร่างกาย ระบบน้ำเหลืองจะทำการกำจัดสารเคมีจากสมองออกไปในขณะที่นอนหลับ ซึ่งรวมถึง Adenosine ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรารู้สึกง่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ยังตื่น
2. ทฤษฎีการนอนหลับเพื่อปรับตัว
ทฤษฎีนี้เสนอว่าการนอนหลับจะช่วยให้ร่างกายมีความสามารถในการมีชีวิตรอดเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเวลากลางคืนนั้นอาจจะอันตราย โดยเฉพาะสัตว์ซึ่งมีความเสี่ยงจากผู้ล่า ดังนั้นจึงต้องหาที่ปลอดภัย และเมื่อสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ก็ทำให้สัตว์นั้น ๆ มีชีวิตที่นานขึ้นและสืบพันธุ์ได้มากขึ้น ดังนั้นการนอนหลับจึงมีประโยชน์ในด้านของการปรับตัว เมื่อเช้าวันใหม่มาถึงก็จะเป็นตัวกระตุ้นอันทรงพลังที่ทำให้เราตื่น และทำให้มีวิวัฒนาการที่ตอบสนองต่อกลางวันและกลางคืน
3. ทฤษฎีการสะสมพลังงาน
ทฤษฎีนี้กล่าวว่าการนอนหลับนั้นเป็นไปเพื่อสะสมพลังงาน เพราะการนอนหลับแสดงว่าร่างกายเราจะใช้เวลาทำงานโดยลดระบบการเผาผลาญลง ดังนั้นความต้องการพลังงานโดยรวมก็จะลดลง หากเราใช้เวลานอนไปกับการตื่น เราก็อาจจะมีอาหารไม่เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดได้ การนอนหลับจึงเพิ่มเวลาในการสร้างไกลโคเจนซึ่งเป็นแหล่งสะสมพลังงานสำหรับสมอง แต่พบว่าถึงแม้ในช่วงการนอนแบบ slow-wave นั้นจะมีการเผาผลาญพลังงานที่ช้า แต่สมองกลับตื่นตัวอย่างมากในช่วง rapid eye movement (REM) sleep ดังนั้นทฤษฎีนี้จึงอาจใช้อธิบายเกี่ยวกับการรักษาพลังงานได้ไม่ทั้งหมด
4. ทฤษฎีอื่นๆ
การนอนหลับดูเหมือนจะมีหน้าที่อื่นและอาจมีสิ่งอื่นที่ทำให้เกิดการนอนหลับขึ้น การนอนช่วยให้เราได้เรียนรู้ ปรับแต่งและทำให้ความจำนั้นคงอยู่นานมากขึ้นในช่วง REM นอกจากนั้นการนอนหลับยังเป็นเรื่องจำเป็นต่อการแก้ปัญหา มันอาจทำให้เราสามารถคิดค้นทางออกใหม่ขึ้นมาเมื่อมีการเชื่อมต่อกันเกิดขึ้นภายในสมอง การนอนหลับยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นแข็งแรงขึ้นและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ บางคนอาจมีความเห็นว่าช่วงการนอนแบบ REM นั้นสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองในทารก
Photo by Annie Spratt & Fabian Oelkers on Unsplash
Story by honestdocs
(4480)