พิษสุนัขบ้าโรคร้ายใกล้ตัว ในทุกวันนี้ ทุก ๆ คนคงได้ยินข่าวทางสื่อโทรทัศน์ หรือ เว็บไซต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพื้นที่สีแดง (พื้นที่ที่มีการกระจายของโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าปกติและยากแก่การควบคุม) วันนี้ RealMetro จะพาทุกคนมารู้จักกับอาการและวิธีป้องกันโรค เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่คุณรักและเพื่อสังคมที่ปลอดภัยของเรา
พิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกกันว่า โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่มีสาเหตุจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดหรือข่วน โดยเฉพาะสุนัข ซึ่งเชื้อดังกล่าวส่งผลกระทบระบบประสาทส่วนกลาง และจะมีความรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาหรือฉีดวัคซีนป้องกันทันเวลา โรคเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง และถ้าเป็นแล้วมักเสียชีวิตทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากทางใดได้บ้าง ?
คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัจบ้าจากสัตว์ที่เป็นโรค คนสามารถติดโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางคือ
1.ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
2.ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน โดยคนนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าในระยะแรกเริ่มอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เนื่องจากเป็นระยะการฟักตัวของเชื้อที่มักใช้เวลาตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือบางรายอาจใช้เวลาอย่างเร็วเพียงแค่ 4 วัน ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมาก เพราะหากเลยช่วงนี้ไปจนเข้าช่วงแสดงอาการแล้วมักไม่สามารถรักษาได้ นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด อาการเริ่มต้นของโรคนี้จะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีไข้ เป็นเหน็บชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงความรู้สึกแสบร้อนที่แผล หลังจากนั้นอาการจะเริ่มพัฒนาไปสู่ระยะที่โรครุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- ฉีดวัคซีนป้องกันเมื่อต้องเดินทางไปในที่ที่มีความเสี่ยง หรือต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ รวมถึงการทำงานกับเชื้อไวรัสเรบีส์ ต้นเหตุโรคพิษสุนัขบ้าในห้องปฏิบัติการ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เมื่อเดินทางไปในที่ที่มีการแพร่ระบาด สอนคนในครอบครัวให้รู้ถึงอันตรายจากการสัมผัสหรือการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ และคอยระมัดระวังตนเอง
- เมื่อพบว่าลูกหลานเกิดแผลตามตัว ควรไต่ถามถึงที่มาว่าเกิดจากสัตว์หรือมีการสัมผัสกับน้ำลายสัตว์หรือไม่ เพื่อให้สามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ตัวอื่นและแพร่มายังเจ้าของ
- คอยเฝ้าดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้คลาดสายตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเลี้ยงสัตว์เล็กอย่างกระต่าย หรือตระกูลหนูทั้งหลายที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้
- แจ้งเทศกิจเมื่อพบเจอสัตว์เร่ร่อนที่น่าสงสัย
- ป้องกันไม่ให้ค้างคาว พาหะหนึ่งของโรคพิษสุนัขบ้ามาอาศัยอยู่ตามบริเวณบ้าน
- ไม่ควรเล่นกับสุนัขหรือสัตว์จรจัด เพราะอาจโดนทำร้าย และอาจนำไปสู่อันตรายได้หากสัตว์ตัวนั้นเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า
Photo by Matthew Henry on unsplash & Photo by Anoir Chafik on Unsplash
(1596)