ใช้ไวรัสรักษาแผล Dr. Anaïs Eskenazi แพทย์ด้านอายุรกรรมและโรคติดเชื้อที่โรงพยาบาล CUB-Erasme ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมรักษาบาดแผลเรื้อรังจากแบคทีเรียของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งด้วยการใช้ไวรัส
คนไข้หญิงรายดังกล่าวมีแผลเรื้อรังที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดใหญ่ที่ต้นขาซ้ายของเธอ เนื่องจากกระดูกต้นขาหักระหว่างเหตุระเบิดที่สนามบินบรัสเซลส์ในเดือนมีนาคม 2016 แพทย์ได้ผ่าตัดเพื่อใช้หมุด สกรู และโครงยึดเพื่อยึดกระดูกให้เข้าที่ แต่การติดเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella ทำให้เธอต้องรักษาบาดแผลด้วยยาปฏิชีวนะมานานร่วม 2 ปี จนเชื้อดื้อยากลายเป็นซูเปอร์บั๊ก ก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจใส่ไวรัสเข้าไปในบาดแผลของเธอเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ทีมแพทย์ได้เพาะเชื้อฟาจในจานเพาะเชื้อเพื่อคัดเลือกรูปแบบการกลายพันธุ์ที่จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ทั้งหมด หลังจากนั้นจึงเพาะเชื้ออีก 15 ครั้งเพื่อให้ได้ไวรัสที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทำให้ฟาจมีศักยภาพมากขึ้นก่อนที่จะนำไปจัดการกับศัตรูของมัน (pre-adaptation) หลังจากนั้นแพทย์ได้นำเนื้อเยื่อที่ตายและเสียหายออกจากบาดแผลของผู้ป่วย ปลูกถ่ายกระดูกที่ชุบ ด้วยยาปฏิชีวนะ และใส่สายสวนเข้าไปในบาดแผลเพื่อส่งฟาจเข้าไป สายสวนนี้ถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 6 วัน ควบคู่กับการให้ยาปฏิชีวนะ
เพียงไม่กี่วันหลังการรักษาพบว่าแผลของเธอแห้งและสีผิวรอบแผลที่ดำคล้ำก็เปลี่ยนเป็นสีชมพูขึ้นจากก่อนหน้านี้มาก สามเดือนหลังจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์ไม่พบร่องรอยของซูเปอร์บั๊กในผู้ป่วยเลย และบาดแผลของเธอก็หายเป็นปกติ และในช่วงสามปีหลังการรักษา การติดเชื้อแบคทีเรียก็ไม่กลับมาอีก
วิธีการนี้เรียกว่า bacteriophages หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “phages” เป็นการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการบำบัดด้วยไวรัส โดยแนวคิดเรื่องการใช้ไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนการค้นพบเพนิซิลลิน แต่ความเข้าใจของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฟาจในขณะนั้นยังมีจำกัด และหลังจากการค้นพบและการผลิตยาปฏิชีวนะในทางเภสัชกรรม การศึกษานี้ในหมู่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ถูกละเลยไป เว้นแต่กลุ่มวิจัยต่างๆ ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ที่ยังคงศึกษาการบำบัดด้วยฟาจและดำเนินการทดลองรักษาในมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง
ความสนใจในการบำบัดด้วยฟาจปรากฏขึ้นอีกครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อกำจัด superbugs ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ แม้ว่าแบคทีเรียจะสามารถพัฒนาความต้านทานต่อฟาจได้บ้าง แต่ความแตกต่างก็คือ ด้วยความยืดหยุ่นทางพันธุกรรม ทำให้ฟาจสามารถพัฒนาเพื่อเอาชนะการต่อต้านและต่อสู้กลับของแบคทีเรียได้ง่าย
(23)