โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID-19 ที่กำลังระบาดเป็นวิกฤติใหญ่อีกครั้งของประเทศไทย ซึ่งในอดีตคนไทยเคยประสบโรคระบาดหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะ 3 โรคร้าย คือ กาฬโรค ไข้ทรพิษ และอหิวาตกโรค ที่แต่เดิมเราเรียกว่า “โรคห่า” และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ห่าลง” อันหมายถึงการเกิดโรคร้ายแรงที่มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก
ตอนที่ 1 โรคห่าสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตอนที่ 2 อหิวาตกโรคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนที่ 3 ภัยคุกคามจากโรคไข้หวัดใหญ่
นอกจากโรคห่าที่หมายถึง 3 โรคร้ายคือ กาฬโรค ไข้ทรพิษ และอหิวาตกโรค ได้ทำให้คนบนแผ่นดินไทยจำนวนกว่าแสนรายต้องเสียชีวิตลงนับแต่แผ่นดินอยุธยาเป็นต้นมา ในอดีตคนไทยยังประสบกับภัยจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากเช่นกัน
ในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรงในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2461 ถึงเดือน มีนาคม พ.ศ.2462 มีผู้ป่วยกว่า 2.3 ล้านคน ผู้เสียชีวิตมากกว่า 8 หมื่นคน
นับเป็นหายนะครั้งใหญ่บนแผ่นดินไทย เนื่องจากในขณะนั้นมีจำนวนประชากรกว่า 8.4 ล้านคน เท่ากับว่ามีผู้ป่วยติดเป็นกว่าร้อยละ 28 ของประชากร และเสียชีวิตประมาณเกือบร้อยละ 10 ของประชากร
ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2462 บันทึกไว้ว่าไข้หวัดหรืออินฟูเอนซา เริ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 จากนั้นได้แพร่ระบาดไปทั่วพระราชอาณาจักรกินเวลา 6 เดือน จึงสงบลงในเดือนมีนาคมปีถัดไป
การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการระบาดใหญ่ของโลกช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H1N1 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งรุนแรงขนาดมีผู้ติดเชื้อสูงถึงประมาณ 40% ของประชากรโลก มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 ล้านคน ภายในเวลา 18 เดือนที่เกิดการระบาดของโลก
ปี พ.ศ.2500 เกิดการระบาดที่เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส H2N2 ในมนุษย์รวมกับไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในเป็ดป่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณสองล้านคน ต่อมาปี พ.ศ.2511 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu ) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส H3N2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณหนึ่งล้านคน ทั้งสองครั้งนี้ไม่มีรายงานการแพร่ระบาดในประเทศไทย
ภัยคุกคามจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งคือ การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีรายงานพบเชื้อในคนครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2552 เริ่มแพร่ระบาดในเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 ติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว จัดได้ว่าเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่สำคัญ มีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไข้หวัดนก และไข้หวัดหมู ทำให้องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวังมากเพราะวิตกว่า เชื้อ H1N1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น
รายงานของสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) คาดการณ์ว่าโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตประชากรโลกรวมกว่า 280,000 คน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่องค์การอนามัยโลกยืนยันอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 คนทั่วโลก
หากย้อนกลับไปดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ที่แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 เดือน กล่าวได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆ
สำหรับประเทศไทยมีการระบาดอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นในเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. 2552 มีการระบาดในโรงเรียนต่างๆ จากกรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วแพร่ขยายไปทั่วทุกจังหวัด จนเดือนตุลาคม 2552 มีการระบาดและปิดโรงเรียนไปกว่า 476 โรงเรียน และมีการติดเชื้อประมาณ 10 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2552
ลักษณะการระบาดเกิดขึ้นรวดเร็ว แพร่ขยายจากโรงเรียนและสถานศึกษาส่งผ่านการระบาดไปยังครอบครัวของตนเอง ผู้ปกครองที่ป่วยก็นำเอาเชื้อไปแพร่สู่ที่ทำงานและชุมชนต่อไป
ปัจจัยที่ส่งเสริมการระบาด เช่น ความหนาแน่นของประชากร ความแออัด สถานที่ปิดทึบอากาศไม่ถ่ายเท การใช้ภาชนะบางอย่างร่วมกัน ฯลฯ ที่สำคัญคือกิจกรรมการรวมกลุ่มที่ทำให้มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ใกล้ชิด
ครั้งนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ด้วยการชะลอการแพร่ระบาดเป็นหลายระลอก เน้นการลดการป่วยและการตายด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การหยุดเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน การหยุดกิจกรรมในสถานที่ที่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน รณรงค์การล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และการคัดกรองผู้ป่วย การวินิจฉัยให้รวดเร็วและรีบรักษาด้วยยาต้านไวรัส การให้วัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 ราย
(2022)