โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID-19 ที่กำลังระบาดเป็นวิกฤติใหญ่อีกครั้งของประเทศไทย ซึ่งในอดีตคนไทยเคยประสบโรคระบาดหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะ 3 โรคร้าย คือ กาฬโรค ไข้ทรพิษ และอหิวาตกโรค ที่แต่เดิมเราเรียกว่า “โรคห่า” และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ห่าลง” อันหมายถึงการเกิดโรคร้ายแรงที่มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก
ตอนที่ 1 โรคห่าสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตอนที่ 2 อหิวาตกโรคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนที่ 3 ภัยคุกคามจากโรคไข้หวัดใหญ่
ตอนที่ 1 โรคห่าสมัยกรุงศรีอยุธยา
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายเมืองหนีโรคห่ามาตั้งเมืองใหม่ ภายหลังโรคร้ายสงบจึงได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1893
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า โรคห่านี้น่าจะเป็นโรคไข้ทรพิษ แต่ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์กลับเชื่อว่าน่าจะเป็นกาฬโรคมากกว่า เพราะเกิดขึ้นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดกาฬโลกระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก
การระบาดเริ่มที่แผ่นดินจีนราว พ.ศ.1876 แล้วแพร่สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีหมัดหนูที่อาศัยอยู่ในหนูที่ติดมากับเรือขนส่งสินค้าของจีน เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคไปยังเมืองตามเส้นทางการค้าที่รวมแผ่นดินไทยด้วย และระบาดต่อไปหลายภูมิภาคทั่วโลก
คำว่า “กาฬโรค” (Black Death) มาจากอาการที่เกิดสีดำคล้ำตามร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากเซลล์ผิวหนังที่ตาย ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่างๆ มีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานกระทั่งเสียชีวิต
สมัยกรุงศรีอยุธยามีโรคห่าเกิดขึ้นหลายครั้ง การระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา คาดว่ามีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน
หลักฐานสำคัญคือหลุมฝังศพขนาดใหญ่ในชุมชนโปรตุเกส ที่มีการขุดพบซากโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมาก ทำให้จำเป็นต้องฝั่งกลบพร้อมกัน โดยพบร่องรอยโรคที่ชี้ว่าน่าจะเป็นไข้ทรพิษ
ไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ ผู้ติดเชื้อจะมีผื่นขึ้นตามตัวขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ผู้ป่วยรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่กล่องเสียงอักเสบไปจนปอดบวม กระดูกและข้อเกิดการอักเสบ และระบบประสาทส่วนกลางอักเสบในระยะท้ายของโรค
การระบาดอีกครั้งเกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร กษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระองค์ทรงสวรรคตจากการติดเชื้อไข้ทรพิษ
การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์ลำดับที่ 28 คาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 8 หมื่นคน ส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของรัฐขณะนั้นอย่างมาก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังปรากฏไข้ทรพิษระบาด ไม่สามารถป้องกันได้ จนในสมัยรัชการที่ 5 หมอบรัดเลย์ นายแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันนำการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเข้ามาเผยแพร่ มีการปลูกฝีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2383 ทำให้เกิดการสูญเสียจากโรคชนิดนี้น้อยลง โดยในประเทศไทยมีการบันทึกไว้ว่าระบาดครั้งสุดท้ายปี พ.ศ.2504
(5447)