นักวิทยาศาสตร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจวาฬสีน้ำเงินได้เป็นครั้งแรกของโลก

เรารู้กันดีว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยิ่งมีขนาดเล็กเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงเท่านั้น แล้วเราเคยคิดหรือไม่ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวาฬสีน้ำเงินนั้น ควรจะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่เท่าไหร่กันนะ?

วาฬสีน้ำเงินจัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถมีความยาวตลอดลำตัวได้ถึง 30 เมตร และมีน้ำหนักได้ถึง 200 ตัน แต่ด้วยความทันสมัยของเครื่องมือต่างๆ ในอดีตอาจไม่เอื้ออำนวย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้แต่คาดเดาถึงอัตราการเต้นของหัวใจพวกมัน

หัวใจที่ได้มาจากวาฬสีน้ำเงินที่ตายใน Newfoundland เมื่อปี 2014

แต่จากความพยายามล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดย Jeremy Goldbogen นักชีววิทยาทางทะเลจาก Stanford University ก็เป็นผลสำเร็จ พวกเขาสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจวาฬได้ ด้วยการนำเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจไปติดในตำแหน่งที่ใกล้กับหัวใจวาฬมากที่สุด ขณะที่มันขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ 

นักวิจัยได้สร้างอุปกรณ์ติดตามตัวโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจห่อหุ้มด้วยเปลือกพลาสติกสีส้ม  และจะมีถ้วยดูด 4 ถ้วยเพื่อให้อุปกรณ์สามารถติดกับตัววาฬได้โดยที่ไม่ก่อความรำคาญหรือความรู้สึกถูกคุกคามต่อพวกมัน ความยากคือพวกเขาต้องอาศัยจังหวะที่มันขึ้นมาหายใจ และใช้เสาคาร์บอนไฟเบอร์ความยาว 6 เมตรยื่นไปติดอุปกรณ์ในตำแหน่งที่ใกล้หัวใจที่สุด เพื่อตรวจดูจังหวะการเต้นของหัวใจของวาฬที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรเปิด

 

อัตราการเต้นของหัวใจของมนุษย์โดยทั่วไปนั้นจะอยู่ในช่วง 60 ถึง 100 ครั้งต่อนาที และจะมีอัตราสูงสุดประมาณ 200 ครั้งขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่าหนึ่งพันครั้งต่อนาทีเลยทีเดียว

หลังจากการติดอุปกรณ์บนตัววาฬเพศผู้ ความยาวลำตัว 22 เมตร ที่พบบริเวณ Monterey Bay นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียเพื่อเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 9 ชั่วโมง พบว่าหลังจากที่มันขึ้นมาสูดอากาศเหนือผิวน้ำ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจ 25 – 37 ครั้งต่อนาที และในระหว่างการดำน้ำหาอาหาร วาฬจะมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำมาก เพียงนาทีละ 4-8 ครั้ง หรืออาจลดลงไปได้ถึง 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของร่างกายของสัตว์ที่มีร่างกายขนาดมหึมาได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา Science alert

(9819)