กิ้งกือตัวเท่ารถยนต์ นักวิจัยในสหราชอาณาจักรค้นพบฟอสซิลของสัตว์มีปล้องขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายกิ้งกือยักษ์ที่มีขนาดใหญ่เท่ารถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนโลกของเราเมื่อ 359-299 ล้านปีก่อน ถือเป็นฟอสซิลของสัตว์ขนาดใหญ่ที่เคยพบจากยุค Carboniferous
พวกมันถูกเรียกว่า Arthropleura โดยฟอสซิลชิ้นนี้มีอายุประมาณ 326 ล้านปี ถูกค้นพบอยู่ภายในกลุ่มหินทรายที่แตกออก บนชายหาดใน Northumberland ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ เมื่อปี 2018 จากชิ้นส่วนโครงสร้างของมันที่มีความยาว 75 เซนติเมตร และกว้าง 55 ซม. หมายความว่าเจ้าตัวที่ลอกคราบนี้ทิ้งไว้จะต้องมีความยาวประมาณ 2.6 เมตร และหนักประมาณ 50 กิโลกรัม
กิ้งกือ เป็นชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายวงศ์ มีเปลือกตัวแข็ง ลำตัวยาวแบ่งเป็นปล้อง ไม่แบ่งอกหรือท้องให้เห็น ปล้องตามลำตัวจับกันเป็นคู่ตามยาวยืดหดเข้าหากันได้ ทำให้สามารถขดตัวเป็นวงกลมได้เมื่อถูกรบกวน ปล้องแต่ละคู่จะมีขาสองคู่ ยกเว้นปล้องแรกไม่มีขา ปล้องที่สองถึงสี่มีขาเพียงคู่เดียว จำนวนขาอาจมีได้ถึงสองร้อยสี่สิบคู่ ชนิดตัวโตที่พบบ่อย ๆ อยู่ในสกุล Graphidostreptus ส่วนตัวขนาดย่อมอยู่ในสกุล Cylindroiulus ทั้งสองสกุลอยู่ในวงศ์ Julidae
กิ้งกือจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Phylum Arthropoda) ชั้นดิพโพลโปดา (Class Diplopoda) ที่มีมากถึง 10,000 สปีชีส์ทั่วโลก และคาดว่าน่าจะมีมากถึง 80,000 สปีชีส์ กิ้งกือทุกชนิดมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ต้นไม้ในป่าเขตร้อนอาจไม่สามารถยืนต้นได้หากไม่มีกิ้งกือ ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช ใบไม้ ลูกไม้ ให้กลายเป็นแร่ธาตุอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยมีจุลินทรีย์คอยช่วยเหลือ กิ้งกือทำหน้าที่นี้มายาวนานหลายล้านปี ซากพืชที่กิ้งกือกินเข้าไป ก็จะถูกถ่ายออกมาเป็นมูลก้อนเล็ก ๆ คล้ายยาลูกกลอน ที่มีทั้งจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน เช่นเดียวกับมูลของไส้เดือนและหอยทาก
ภาพ Neil Davies ผู้นำทีมวิจัยจากเคมบริดจ์
(238)