นักวิจัยค้นพบไส้เดือนฝอย ในทะเลสาบที่เต็มไปด้วยสารหนู

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบไส้เดือนฝอย 8 สายพันธุ์ ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในทะเลสาบ Mono Lake ในแคลิฟอร์เนีย ที่แทบจะไม่มีสัตว์ชนิดใดอาศัยอยู่ได้

ทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออก ของเทือกเขา Sierra มีความเค็มสูงมาก และเต็มไปด้วยสารหนู ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั่วไป แต่กลุ่มนักวิจัยกลับพบไส้เดือนฝอยถึง 8 สายพันธุ์ โดย 1 สายพันธุ์ในนั้นพบว่ามีถึง 3 เพศ

เดิมพวกเขาคิดว่าที่นี่มีเพียงกุ้งน้ำเค็ม แมลงวันน้ำ แบคทีเรีย และสาหร่าย จนกระทั่ง Paul Sternberg นักชีววิทยาจาก California Institute of Technology และทีมของเขาได้ศึกษาอย่างจริงจังและพบพวกมันเข้า

ในวารสาร Current Biology ฉบับวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา พอลกล่าวว่าไส้เดือนฝอยที่พบสามารถทนต่อสารหนูได้มากกว่ามนุษย์ถึง 500 เท่า นอกจากนี้ Lucy Stewart นักจุลชีววิทยาจาก GNS Science ในนิวซีแลนด์ก็กล่าวถึงการค้นพบนี้ด้วยว่าเป็นการขยายขอบเขตความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

นักวิจัยได้เดินทางไปเก็บตัวอย่างดินในเขตน้ำขึ้นน้ำลงของทะเลสาบ เมื่อช่วงฤดูร้อนในปี 2016 และ 2017 พบไส้เดือนฝอย 8 สายพันธุ์ที่มีลักษณะปากแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะต่ออาหารที่พวกมันกิน ไม่ว่าจะเป็นการเล็มกินอาหารทีละนิดคล้ายกับวัวเล็มหญ้า บางชนิดก็ล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร และบางชนิดก็เป็นปรสิตที่ดูดสารอาหารจากสัตว์อื่น

จากการศึกษาการขยายพันธุ์ของ Auanema ในห้องปฏิบัติการ พบว่ามันสามารถมีเพศที่แตกต่างกันได้ถึง 3 เพศ และสามารถเลี้ยงดูตัวอ่อนที่อยู่ภายในร่างกายได้อีกด้วย และเมื่อศึกษาลึกลงไปในรหัสทางพันธุกรรม พบว่ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นในยีนส์ที่มีชื่อว่า dbt-1 ซึ่งมีหน้าที่ในการสลายกรดอะมิโนในโปรตีน และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันสามารถทนต่อสารหนูได้

ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ก็มีการกลายพันธุ์ในลักษณะเดียวกัน จนดูเหมือนว่าพวกมันทั้ง 8 สายพันธุ์เกิดมาเพื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอย่างแท้จริง

ด้าน Pei-Yin Shih นักศึกษาจาก Caltech ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยก็กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า นี่อาจเป็นแนวทางที่ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมสุดขั้ว และอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีการที่ดีในการปกป้องมนุษย์จากน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารหนูในอนาคตได้อีกด้วย

(588)