ภาวะโลกร้อนทำให้ตะไคร่น้ำมีพิษระบาดหนักในแหล่งน้ำจืดเกือบทั่วโลก

จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature รายงานว่า จากข้อมูลที่นาซาเปรียบเทียบปริมาณตะไคร่พิษเมื่อ 30 ปีที่แล้วกับในปัจจุบัน พบว่าตะไคร่พิษในแหล่งน้ำจืดที่ทำการศึกษาหลายสิบแห่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งการเพิ่มจำนวนนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการเกษตร และการพัฒนาเมือง ที่เพิ่มการแพร่กระจายตะไคร่เหล่านี้

ตะไคร่ที่มีอันตรายนี้อยู่ในตระกูลสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หากมนุษย์ได้รับตะไคร่ชนิดนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ชัก พูดไม่ชัด เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และมีไข้ รวมถึงปล่อยสารพิษที่ทำลายตับ ซึ่งนำไปสู่การเป็นอัมพาตทางเดินหายใจ หรือภาวะที่อันตรายถึงชีวิตอื่นๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้มีรายงานว่าสุนัขหลายตัวก็ป่วยตายหลังจากที่กินน้ำจากแหล่งน้ำที่มีตะไคร่น้ำชนิดนี้อีกด้วย

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ Carnegie ได้ใช้ข้อมูลที่ได้รับจากองค์การนาซา และดาวเทียมระยะใกล้ที่สำรวจทางธรณีวิทยา Landsat 5 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปีค.ศ. 1984 และปี 2013 โดยศึกษาแนวโน้มระยะยาวจากทะเลสาบขนาดใหญ่ 71 แห่ง ใน 33 ประเทศ จาก 6 ทวีป 

Jeff Ho จากสถาบันวิทยาศาสตร์ Carnegie กล่าวว่าเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าไนโตรเจนและฟอสฟอรัส เป็นสารอาหารสำคัญสำหรับการเติบโตของสาหร่ายชนิดนี้ เมื่อสารทั้งสองชนิดนี้ลงสู่ทะเลสาบและอุณหภูมิของน้ำอุ่นขึ้น ก็จะยิ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพวกมัน มีทะเลสาบจำนวนน้อยมากที่สามารถจัดการกับตะไคร่เหล่านี้ได้

Anna Michalak หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเสริมว่า ในช่วงฤดูร้อนการเติบโตของตะไคร่จะเพิ่มขึ้นจนครอบคลุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของทะเลสาบ แต่จะลดลงเล็กน้อยเท่านั้นในฤดูกาลอื่นๆ หมายความว่าสาหร่ายกำลังขยายวงกว้างขึ้นและเข้มข้นมากขึ้น

จากการวิจัยคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสาหร่ายทำให้ทางการต้องออกกฎห้ามลงว่ายน้ำทั้งในทะเลสาบในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ชายฝั่งทะเลของรัฐมิสซิสซิปปี ไปจนถึงทะเลสาบ Hopatcong ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของรัฐนิวเจอร์ซีย์

นอกจากผลกระทบที่อเมริกาได้รับแล้ว ในนอร์เวย์เองก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สาหร่ายที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องสูญเสียปลาแซลมอนในฟาร์มไปอย่างน้อย 8 ล้านตัวในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว เนื่องจากสาหร่ายติดกับเหงือกปลาและทำให้พวกมันขาดอากาศจนตาย

กรมการประมงนอร์เวย์กล่าวว่าแซลมอนที่เสียไปเป็นน้ำหนักมากกว่า 10,000 ตัน ซึ่งทำให้นอร์เวย์สูญรายได้ถึง 620 ล้านโครนนอร์เวย์  ทางฝั่งสกอตแลนด์เองก็เสียหายไม่แพ้กัน เมื่อมีรายงานว่าสาหร่ายชนิดนี้ได้ฆ่าปลาหลายพันตัวในทะเลสาบ Loch Fyne ใกล้กับชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ด้วย

เราจึงจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ในการจัดการน้ำ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะมลพิษในแต่ละพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

 

(3974)