สุสานลึกลับในอิหร่าน โครงสร้างทนแผ่นดินไหวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ในอดีตภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วม พายุ และแผ่นดินไหวมักถูกครอบงำด้วยความเชื่อว่าเป็นการกระทำของเทพเจ้า แต่ถึงแม้จะมีความเชื่อแบบนั้น แต่ก็มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราได้มีความพยายามที่จะเอาตัวรอดจากภัยเหล่านั้นมาตลอด ตั้งแต่การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ และการคิดโครงสร้างที่สามารถทนต่อแผ่นดินไหวได้

ในอารยธรรมครีต มีอาคารมากมายที่สร้างขึ้นจากหินที่สลักเป็นก้อน ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยไม้ เพื่อให้โครงสร้างมีความยืดหยุ่นมากพอเมื่อเกิดการสั่นสะเทือน และยังรองใต้พื้นด้วยทรายและกรวดแบบหลวมเพื่อดูดซับแรงสั่นสะเทือน อย่างวิหารเทพอาธีนาในกรุงทรอย และวิหารดอริกที่ Paestum

ส่วนอารยธรรมกรีกและเปอร์เซียเอง ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่แตกต่างออกไปในแง่วัสดุ เช่นการใช้ดินเผาและดินเหนียวเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างพื้นกับตัวอาคาร เพื่อแยกโครงสร้างหลักออกจากพื้น ซึ่งกลายเป็นเทคนิกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใช้ในปัจจุบัน ที่วิศวกรจะใช้ตลับลูกปืน และระบบสปริงในการแยกไม่ให้ตัวอาคารสัมผัสพื้นดินโดยตรงนั่นเอง

และหนึ่งในตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดถูกพบในสถานที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นสุสานแห่งไซรัส ใน Pasargadae เมืองหลวงของจักรวรรดิ Achaemenid ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ไซรัส เมื่อประมาณ 559–530 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศอิหร่าน

แม้พระองค์จะครอบครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลตั้งแต่ทะเลเมดิเตอเรเนียนมาจนถึงแม่น้ำสินธุ แต่สุสานของพระองค์นั้นกลับเรียบง่ายจนแทบไม่น่าเชื่อ สุสานรูปทรงลูกบาศก์มีขนาดเพียงประมาณ 5×6 เมตร กับทางเข้าเล็กๆ สู่ใต้ดิน และมีหลังคารูปสามเหลี่ยม โถงด้านบนตั้งอยู่เหนือฐานพีระมิด 6 ขั้น ซึ่งทั้งหมดถูกสร้างด้วยก้อนหินขนาดใหญ่

ในส่วนฐานประกอบด้วยหินปูนหลายชั้น โดยชั้นล่างสุดถูกผสมด้วยส่วนผสมหลายชนิดคล้ายกับปูนซีเมนต์โดยมีทั้งหินปูนละเอียด ขี้เถ้า และทราย ส่วนชั้นบนทำจากบล็อกที่เชื่อมเข้าด้วยกันกับแท่งเหล็ก แต่ไม่ได้ยึดติดกับฐาน และสิ่งนี้เองที่ทำให้ชั้นบนสามารถเลื่อนไปมาได้ขณะที่รากฐานสั่นจากการเกิดแผ่นดินไหว

เห็นได้ชัดว่าสิ่งก่อสร้างแห่งนี้สามารถทนต่อแผ่นดินไหวในช่วง 2,500 ปีที่ผ่านมาได้ ถึงแม้เราจะไม่สามารถระบุได้ว่าแผ่นดินไหวเหล่านั้นมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม

ตามบันทึกของ Arrian of Nicomedia นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก  ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารของอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียกล่าวไว้ว่า พระราชาได้เดินทางมายังสุสานแห่งนี้ หลังจากที่เข้าปล้นและทำลายเมือง Persepolis อเล็กซานเดอร์ได้สั่งให้ Aristobulus หนึ่งในนักรบของเขาเข้าไปสำรวจภายในสุสาน เขาพบเตียงทองคำ ชุดโต๊ะที่มีภาชนะใส่เครื่องดื่ม โลงศพทองคำประดับด้วยอัญมณีมีค่า และจารึกบนหลุมศพที่กล่าวว่า:

Passer-by, I am Cyrus, who gave the Persians an empire, and was king of Asia.
                                               Grudge me not therefore this monument.’

แต่ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีว่าจารึกนี้มีอยู่จริง แม้ในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่พูดถึงจารึกนี้ก็มีความขัดแย้งกันอย่างมากกับถ้อยคำที่แน่นอนของข้อความ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เนื่องจากสุสานถูกปล้นภายหลังจากการมาเยือนครั้งนั้น และเมื่ออเล็กซานเดอร์กลับมาที่หลุมฝังศพเขาก็สั่งให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ ดังนั้นหากจารึกถูกทำลายไปเขาจะต้องสั่งให้ทำขึ้นใหม่ด้วยอย่างแน่นอน

การไม่มีแผ่นจารึกที่กล่าวถึงในบันทึกนี้กลายเป็นเรื่องลึกลับและสร้างความเคลือบแคลงเกี่ยวกับข้อมูลของสุสาน จึงไม่อาจฟันธงได้ว่าหลุมฝังศพนี้เป็นของไซรัสมหาราชจริงๆ มีเพียงการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับระบบการแยกฐานเพื่อป้องกันการสั่นไหวของโครงสร้าง ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Islamic Azad University ในอิหร่านเท่านั้น ที่ผู้เขียนอ้างว่าได้มีการจำลองหลุมฝังศพในซอฟต์แวร์ และทดสอบการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงเพื่อหาข้อสรุป แต่น่าเสียดายที่งานวิจัยนี้ไม่สามารถเผยแพร่ได้

ที่มา Amusing planet

(1465)