ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้าน นำปลาตะเพียนขาวที่มีก้างเยอะมากมาต้ม 3 วัน 3 คืน โดยใต้กระทะรองด้วยสัปปะรดเพื่อป้องกันก้นกระทะไหม้ ทำให้ก้างนิ่มละลายไปเลยกับเมนูปลาตะเพียนต้มเค็ม
ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นับเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักดีและอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาตั้งแต่โบราณ เช่น ปลาตะเพียนใบลาน มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้ในประเทศมานานกว่า 30 ปี และถูกนำพันธุ์ไปเลี้ยงยังต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าในประเทศเหล่านี้จะมีปลาชนิดนี้อยู่ในธรรมชาติแล้วก็ตาม
ขนาดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 36 เซนติเมตร เคยพบใหญ่ที่สุด 90 เซนติเมตร น้ำหนัก 13 กิโลกรัม ที่ประเทศมาเลเซีย พบชุกชุมในทุกแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นแม่น้ำสาละวิน พวกมันจะอยู่กันเป็นฝูง ชอบที่น้ำไหลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะตัวที่เป็นปลาเผือก ซึ่งเรียกกันว่า “ปลาตะเพียนอินโด” นิยมเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์เก็บกินเศษอาหารที่ปลาใหญ่กินเหลือ เก็บตะไคร่น้ำและปรสิตในตู้ หรือแม้กระทั่งเลี้ยงเป็นปลาลูกไล่ของปลาใหญ่กว่า นอกจากนี้ยังเลี้ยงเพื่อทดสอบค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ (pH) หรือความเข้มข้นของคลอรีนก่อนที่จะปล่อยปลาที่จะเลี้ยงจริงลงไป เนื่องจากปลาตะเพียนขาวเป็นปลาที่มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และมีความไวต่อคุณภาพน้ำ
ปลาตะเพียนขาวมีการผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงฤดูฝน ตัวผู้บริเวณข้างแก้มจะมีตุ่มคล้ายสิวอันเป็นเอกลักษณ์ของปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ตัวเมียเมื่อถึงสภาพสมบูรณ์ ลำตัวจะอวบอ้วนและใหญ่กว่าตัวผู้ 2–3 เท่า ใช้เวลาอุ้มท้องจนกระทั่งวางไข่ประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ปลาเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำต่าง ๆ
(1829)