กุย หรือ ไซกา สัตว์หายากหน้าตาสุดแปลกประหลาด

กุย หรือ ไซกา (Saiga antelope) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saiga tatarica เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับแอนทีโลป มีความสูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียและมีเขายาว 20–25 เซนติเมตร ลักษณะเด่น คือ จมูกที่มีขนาดใหญ่และยืดหยุ่นได้ มีรูปร่างแปลกเหมือนจมูกของสมเสร็จซึ่งมีหน้าที่ในการอุ่นอากาศหายใจในฤดูหนาวและกรองฝุ่นออกในฤดูร้อน

(www.iucnredlist.org)

ในฤดูร้อน ขนของกุยจะบางและมีสีเหลืองเหมือนสีอบเชย มีความยาว 18–30 มิลลิเมตร ส่วนในฤดูหนาวจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ความยาว 40–70 มิลลิเมตร พบกระจายพันธุ์ในเอเชียกลาง ได้แก่ ไซบีเรียตอนใต้  มองโกเลียตะวันตก และจีนตะวันตกเฉียงเหนือ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ กุยมองโกเลีย (S. borealis) และกุยธรรมดา (S. t. tatarica)

กุยมีอุปนิสัยที่ตื่นตัวตลอดเวลา กินพืชได้หลายชนิดรวมทั้งพืชที่มีพิษ ว่ายน้ำเก่ง และยังสามารถวิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในวันหนึ่งสามารถเดินทางได้ไกล 80–100 กิโลเมตร และจะอพยพทุก ๆ ปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิขึ้นเหนือเพื่อไปพื้นที่เล็มหญ้าในช่วงฤดูร้อน

ฤดูผสมพันธุ์ของกุยนั้นเริ่มในเดือนพฤศจิกายน พวกตัวผู้จะต่อสู้กันจนตายเพื่อครอบครองเหล่าตัวเมียที่อยู่ในฝูงประมาณ 5–50 ตัว หลังจากหมดฤดูผสมพันธุ์ในปลายเดือนเมษายน กุยตัวผู้ที่เหลือรอดจะมาร่วมกลุ่มกันเพื่ออพยพขึ้นเหนือในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ส่วนตัวเมียจะอยู่ที่เดิมและพากันไปหาที่ให้กำเนิดลูก โดยมีระยะเวลาตั้งท้องนาน 140 วัน 

ในอดีตพวกมันถูกล่าเอาเขา ซึ่งเชื่อว่าปรุงเป็นยาจีนได้ และมีราคาซื้อขายที่แพงมากเหมือนนอแรด และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 กุยจำนวนมากเริ่มตายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาดในสัตว์ คาดว่าน่าจะเป็นเชื้อพาสเจอร์เรลลา มีการประมาณว่ามีกุยตายจากการระบาดครั้งนั้นถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดและเหลือประชากรทั้งหมดตามธรรมชาติเพียง 250,000 ตัวเท่านั้น

(6305)