ใครว่ามีแต่สัตว์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากพลาสติก?? ผลวิจัยจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปให้ผลที่ใกล้เคียงกันว่า โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์กินไมโครพลาสติกเข้าไปกว่า 50,000 ชิ้นต่อปี และหายใจเข้าไปอีกในจำนวนที่ไม่น้อยไปกว่ากันเลย
เป็นไปได้ว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นอาจมีมากกว่านี้ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต จากการตรวจสอบพบว่าในอาหารและเครื่องดื่มที่เรารับประทานกันนั้นมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอยู่ด้วย โดยเฉพาะการดื่มน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีไมโครพลาสติกจากการผลิตขวดน้ำดื่มตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็น 22 เท่าของปริมาณไมโครพลาสติกที่พบในน้ำประปา
ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบว่ามีไมโครพลาสติกอยู่มากแค่ไหน แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก แม้ว่าในตอนนี้ผลกระทบด้านสุขภาพนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มันอาจส่งผลกระทบได้หากพลาสติกเหล่านั้นเกิดปล่อยสารพิษจากการทำปฏิกิริยาบางอย่างภายในร่างกาย หรือบางชนิดอาจมีขนาดเล็กพอที่จะแทรกซึมผ่านเนื้อเยื่อ และกระตุ้นกระบวนการภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
ปัญหามลภาวะจากไมโครพลาสติกนั้นพบได้ในทุกที่ ตั้งแต่ในอากาศ ดิน แม่น้ำ หรือแม้กระทั่งใต้ทะเลลึก ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่ามนุษย์รับไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายจากการตรวจอุจจาระมนุษย์เมื่อเดือนตุลาคม 2018 นั่นเอง
ผลการวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Environmental Science and Technology ชี้ให้เห็นว่ามีข้อมูลจากงานวิจัยถึง 26 ชิ้นพบว่ามีไมโครพลาสติกปนเปื้อนทั้งในปลา หอย น้ำตาล เกลือ เบียร์ และน้ำ รวมถึงอากาศในเมือง ซึ่งจากการคำนวนปริมาณไมโครพลาสติกที่มนุษย์รับประทานเข้าไปในแต่ละปี ในผู้ใหญ่คิดเป็นจำนวนประมาณ 50,000 ชิ้น ส่วนเด็กมีประมาณ 40,000 ชิ้นเลยทีเดียว
วิธีแก้ปัญหาที่เราทำได้ง่ายที่สุด คือพยายามหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และลดการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกโดยการพกภาชนะเป็นของตนเอง เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามนุษย์คือตัวการสำคัญในการปล่อยขยะพลาสติกสู่ธรรมชาติ และพลาสติกเหล่านั้นไม่ได้ไปไหน แต่มันวนเวียนอยู่ในระบบนิเวศที่เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบด้วย
(5277)