นิลกาย สัตว์โบราณที่หาชมได้ยาก

นิลกาย (Nilgai หรือ Blue bull) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่เคี้ยวเอื้อง จัดอยู่ในสกุล Boselaphus มีรูปร่างลักษณะคล้ายวัวผสมกับม้า ตัวผู้มีลักษณะเด่นที่สีของลำตัวเมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มขึ้นเรื่อย ๆ หรือสีเทาปนดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ถือเป็นแอนทีโลปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย โดยมีส่วนสูงวัดถึงไหล่ประมาณ 1.2-1.5 เมตร และยาว 1.8-2 เมตร หางยาว 40-45 เซนติเมตร

ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 120-140 กิโลกรัม ลำตัวใหญ่ แต่มีขาเล็กเรียว ตัวผู้มีเขาเล็ก ๆ โค้งไปข้างหน้าเล็กน้อย ยาวประมาณ 21-25 เซนติเมตร มีขนแข็งยาวขึ้นจากส่วนหัวไล่ไปถึงกลางหลังทั้งสองเพศ ขณะที่ตัวเมียมีสีออกน้ำตาลแดง โดยชื่อนิลกายมาจากภาษาฮินดี แปลว่า “วัวตัวผู้สีน้ำเงิน” คำว่านิล หมายถึง “สีน้ำเงิน” ส่วนคำว่ากาย หมายถึง “วัวตัวผู้”
มีอายุไขเฉลี่ย 21 ปี

นิลกาย เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกระจายพันธุ์ในราบตอนเหนือของอินเดียและทางภาคตะวันออกของปากีสถาน ชอบอยู่ตามที่ราบและเนินเขาที่มีไม้พุ่มเตี้ยมากกว่าอยู่ในป่าทึบเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 18 เดือน ซึ่งหลังผสมพันธุ์แล้ว มีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 8 เดือน ออกลูกคราวละ 2 ตัวหรือมากได้ถึง 3 ตัว น้ำหนักตัวเมื่อเกิดใหม่ราว 13-16 กิโลกรัม มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 21 ปี

เป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางวัน และพักผ่อนในเวลากลางคืนเหมือนสัตว์ในวงศ์เดียวกันชนิดอื่น ๆ แต่กินอาหารหลากหลายกว่า เพราะกินทั้งต้นไม้, ใบหญ้า, ใบไม้ และผลไม้ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความสามารถพิเศษ คือ สามารถอดน้ำได้หลายวันโดยไม่มีน้ำดื่ม แต่มักจะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 15 ตัว บางกลุ่มอาจมีถึง 20 ตัว ยกเว้นตัวที่อายุมากแล้วมักจะปลีกตัวไปอยู่ตามลำพัง และจะรวมตัวกันอีกทีก็ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจจะมีจำนวนถึง 30-100 ตัว

นิลกายเพศเมีย

ปัจจุบัน นิลกายพบจำนวนมากในสวนลุมพินีวัน ประเทศอินเดีย และเชื่อว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ด้วย เป็นสัตว์ที่เชื่อว่าหากใครได้พบเห็น จะพบกับความเป็นสิริมงคล แต่นิลกายก็ถือเป็นสัตว์ที่รบกวนกินพืชผลของเกษตรกรเสียหายได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก ทางการอินเดียจึงอนุญาตให้ล่าสัตว์ชนิดนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่อีกไม่น้อยถูกรถชน นอกจากนี้ยังต้องขาดแคลนที่อยู่ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และมีศัตรูตามธรรมชาติอย่างเสือและสิงโต ทำให้ปัจจุบันเหลือปริมาณ นิลกายอยู่เพียงไม่ถึง 2,000 ตัว สำหรับผู้ที่ต้องการเห็นสัตว์หายากชนิดนี้แบบตัวเป็นๆ ก็สามารถไปดูกันได้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่

(9637)