Mangalitsa หรือ Mangalica เป็นสายพันธุ์สุกรหายากมีแหล่งกำเนิดจากประเทศฮังการี สุกรสายพันธุ์นี้มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเนื่องจากมีขนยาว ฟู และหยิกทั่วร่างกายคล้ายกับแกะ แต่ขนอาจมีสีดำหรือแดง แต่โดยทั่วไปมักเป็นสีบลอนด์ Mangalica เป็นสุกรสายพันธุ์สุดท้ายที่มีขนลักษณะแปลกประหลาดนี้ และพวกมันเกือบจะสูญพันธุ์ไปในช่วงปี 1990 เมื่อขณะนั้นมีประชากรของสุกรอยู่น้อยกว่า 200 ตัว ทั่วโลก
การผสมพันธุ์ Mangalitsa เริ่มขึ้นในยุค 1830 ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีหลังจากท่านดยุค โจเซฟ แอนตันโยฮันน์ ลูกชายคนที่เจ็ดของจักรพรรดิโรมัน เลียวโปลด์ที่สอง ได้รับสายพันธุ์หมู Sumadija จากเจ้าชายประเทศเซอร์เบียมา จากการผสมพันธุ์กันกับสุกรพันธุ์พื้นเมืองอย่างสายพันธุ์ Bakony และSzalonta จึงเกิดสุกรสายพันธุ์ Mangalitsa ที่มีขนฟูหยิกเป็นลอน และมีน้ำหนักที่มากขึ้น ในช่วงแรกเนื้อสุกรชนิดนี้ถูกสงวนไว้สำหรับราชวงศ์ฮับส์บูร์กเท่านั้น แต่เนื่องจากรสชาติที่ยอดเยี่ยมมันจึงกลายเป็นที่นิยมในตอนปลายศตวรรษที่ 19 และกลายมาเป็นสายพันธุ์หลัก ๆ ที่เป็นที่นิยมในทวีปยุโรป
สุกรสายพันธุ์ Mangalitsa ไม่ต้องการการดูแลอะไรเป็นพิเศษ ในความเป็นจริงแล้วสุกรสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในสุกรที่อ้วนที่สุดในโลก โดยมีไขมัน 65% ถึง 70% ของน้ำหนักตัว เนื้อสุกรชนิดนี้จึงถือเป็นหนึ่งในสุกรที่อร่อยที่สุดในโลก เนื้อ Mangalica นั้นมีสีแดงสวยลายหินอ่อน และมีไขมันแทรกอยู่เยอะ มีกรดไขมันโอเมก้า -3 สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากอาหารที่พวกมันกินตามธรรมชาติอย่าง ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ ทำให้ไขมันสุกรนั้นเบา และละลายที่อุณหภูมิต่ำกว่าสุกรสายพันธุ์อื่น ๆ เพราะมีไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่า
สุกรสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อผู้คนพบว่าไขมันอิ่มตัวนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประชากรของสุกรสายพันธุ์ Mangalitsa จึงลดลงอย่างรวดเร็วและถูกทดแทนด้วยสุกรสายพันธุ์ที่ผอมเพรียว มีปริมาณเนื้อสัตว์ที่มากขึ้น และมีไขมันน้อยลง จนกระทั่งทศวรรษ 1970 ในประเทศออสเตรียสามารถพบสุกรสายพันธุ์ Mangalitsa นี้ได้ในอุทยานแห่งชาติและสวนสัตว์เท่านั้น และในประเทศฮังการีมีประชากรแม่พันธุ์สุกรน้อยกว่า 200 ตัว
ในช่วงทศวรรษ 1980 เนื่องด้วยประชากรสุกรสายพันธุ์ Mangalitsa ลดน้อยลงทำให้ผู้คนกลับมาสนใจ มีการปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่โดยสมาคมผู้ผลิตสายพันธุ์หมู Mangalica แห่งชาติฮังการีในปี 1994 ซึ่งสมาคมนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องสายพันธุ์หมูจากการสูญพันธุ์ ในปัจจุบันมีสุกรแม่พันธุ์ Mangalica มากกว่า 8,000 ตัวในประเทศฮังการี และพยายามผลิตสุกรให้ได้ 60,000 ตัวต่อปี สุกรสายพันธุ์ Mangalica นี้ยังคงจัดเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่ต้องดูแลพิเศษ แต่อยู่นอกจุดอันตรายจากการสูญพันธุ์แล้ว
(2671)