ในปี 1999 Nicola Strickland นักรังสีวิทยาเดินทางไปพักผ่อนบนเกาะ Tobago กลางทะเลแคริบเบียน เช้าวันหนึ่งขณะที่ออกไปเดินเล่นบนชายหาด เธอกับเพื่อนๆ ก็พบเข้ากับต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ส่งกลิ่นหอมหวานและมีผลคล้าย crabapple ซึ่งเป็นแอปเปิลขนาดเล็ก
การตัดสินใจโดยไม่ทันยั้งคิดทำให้เธอลองกัดมันไปหนึ่งคำ เพียงเสี้ยวเวลาเดียวเท่านั้นที่ได้รับรสหวานของมัน หลังจากนั้นเธอก็ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งในปากและลำคอจนไม่สามารถกลืนอะไรได้ แต่โชคดีที่เธอกับเพื่อนรอดชีวิตมาได้
มันคือผลของต้น Manchineel (Hippomane mancinella) หรือที่บางครั้งเรียกกันว่า ‘beach apple’ หรือ ‘poison guava’ ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของป่าเขตร้อนในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และในแถบแคริบเบียนของอเมริกาใต้ โดยมีชื่อในภาษาสเปนว่า ‘Manzanilla de la muerte‘ แปลว่า แอปเปิลน้อยแห่งความตาย ความอันตรายของมันมากจนกินเนสส์บุ๊กยกให้เป็นต้นไม้ที่อันตรายที่สุดในโลกเลยทีเดียว
สถาบันวิทยาศาสตร์การอาหารและการเกษตรแห่งฟลอริดา (Florida Institute of Food and Agricultural Sciences) อธิบายไว้ว่าทุกส่วนของต้นไม้ชนิดนี้ล้วนมีพิษสูง การสัมผัสหรือรับประทานส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้นี้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
Manchineel จัดเป็นพืชในสกุล Euphorbia ที่ขึ้นชื่อเรื่องความระคายเคืองหากสัมผัสกับยาง แต่สำหรับต้นไม้นี้ มันสามารถสร้างความระคายเคืองและแสบร้อนคล้ายถูกเผาไหม้ได้ไม่ว่าจะสัมผัสกับใบ ยาง เปลือกไม้ และผลของมัน หรือแม้แต่การยืนใต้ต้นขณะฝนตกก็ทำให้เกิดความระคายเคืองได้เช่นกัน เนื่องจากสาร Phorbol ที่พบในพืชตระกูลนี้สามารถละลายในน้ำได้สูง ทำให้แม้แต่เม็ดฝนที่มีสารชนิดนี้อย่างเจือจางก็ยังสามารถไหม้ผิวหนังของคุณได้อย่างรุนแรง
แล้วทำไมจึงไม่กำจัดมันทิ้งไป? นั่นเพราะมันเป็นไม้พุ่มที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศท้องถิ่น เนื่องจากพุ่มขนาดใหญ่ของมันสามารถกันลมและการกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี ในด้านหนึ่งมันคือพิษร้ายที่เคยถูกใช้ในการจัดการกับข้าศึก แต่อีกด้านเนื้อไม้ของมันกลับรับความนิยมจากชาวท้องถิ่นในการทำเฟอร์นิเจอร์ด้วย เพียงแค่ต้องตัดอย่างระมัดระวัง และต้องตากแดดไว้จนกว่ายางและพิษต่างๆ จะหายไป
ที่มา Science alert , Hernando sun
(4071)