นักดาราศาสตร์จีนค้นพบหลุมดำขนาดมหึมาในทางช้างเผือก

นักดาราศาสตร์คาดว่าในแกแล็กซีทางช้างเผือกนั้นมีหลุมดำอยู่มากถึง 100 ล้านแห่ง  ซึ่งหลุมดำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีมวลไม่เกิน 20 เท่าของดวงอาทิตย์ แต่จากข้อมูลล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้ทำลายข้อสันนิษฐานนี้ลง

ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดย ศาสตราจารย์ LIU Jifeng จากหอดูดาวแห่งชาติของจีน ได้ค้นพบหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 70 เท่า ซึ่งอยู่ห่างจากโลกของเราประมาณ 15,000 ปีแสง และตั้งชื่อให้กับหลุมดำนี้ว่า  LB-1 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจอวกาศ Large Sky Area Multi-Object Fiber Spectroscopic Telescope (LAMOST) ของจีน เพื่อค้นหาดาวฤกษ์และวัตถุที่ไม่สามารถมองเห็นได้มาก่อน 

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลุมดำนี้ถูกค้นพบจากการที่มันดูดกลืนแก๊สจากดาวข้างเคียง ส่งผลให้มีการปล่อยคลื่นรังสีเอ็กซ์ออกมาอย่างรุนแรงจนสามารถตรวจจับได้จากบนโลก ซึ่งเผยให้เห็นวัตถุที่กำลังยุบตัว แต่โดยปกติแล้ว หลุมดำที่เป็นดาวเด่นในแกแล็กซี่มักจะไม่มีส่วนร่วมกับดาวดวงอื่นๆ และไม่ปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมา จึงทำให้เราสามารถระบุตัวตนของหลุมดำเหล่านั้นได้เพียงหลักสิบแห่งเท่านั้น

การค้นพบครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นกับพวกเขามาก ศาสตราจารย์ LIU กล่าวว่า ขนาดของมันใหญ่จนไม่คิดว่าจะสามารถอยู่ภายในแกแล็กซี่ของเราได้ เนื่องจากเดิมเราคิดว่าก่อนที่ดาวฤกษ์ขนาดใหญ่จะหมดอายุขัยลง มันจะปล่อยแก๊สและมวลปริมาณมหาศาลออกมาจนแทบไม่เหลืออะไรให้เกิดเป็นหลุมดำที่ใหญ่ขนาดนี้ได้

ในตอนนี้งานหนักตกอยู่กับนักวิทยาศาสตร์ในการหาคำตอบว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งพวกเขามีข้อสันนิษฐานว่ามันอาจไม่ได้เกิดจากดาวเพียงดวงเดียว แต่เป็นการโคจรรอบกันของหลุมดำขนาดเล็กสองแห่ง อีกความเป็นไปได้คือ มันเกิดจากกระบวนการที่เรียกว่า Fallback supernova ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขณะเกิดซูเปอร์โนวา วัตถุที่กระจายออกจากการระเบิดนั้นหล่นลงไปในซูเปอร์โนวาจนเกิดเป็นหลุมดำขึ้น

ที่มา Eurek Alert, CNN

ภาพปก YU Jingchuan, Beijing Planetarium, 2019.

(4919)