ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rice ในฮูสตัน ได้เดินทางไปยังธารน้ำแข็งที่ชื่อว่า Okjökull หรือ Ok glacier ใน Borgarfjörður ทางตะวันตกของไอซ์แลนด์ ที่เคยมีพื้นที่ 38 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สำนักอุตุนิยมวิทยาของไอซ์แลนด์ได้ถอดรายชื่อออกจากการเป็นธารน้ำแข็ง เนื่องจากมันละลายเกือบหมดจนไม่สามารถเรียกว่าธารน้ำแข็งได้อีกต่อไป
แผ่นป้ายหินที่ทีมนักวิจัยนำมาติดตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับธารน้ำแข็งแห่งนี้ มีใจความว่า
“Ok is the first Icelandic glacier to lose its status as a glacier. In the next 200 years all our glaciers are expected to follow the same path. This monument is to acknowledge that we know what is happening and what needs to be done. Only you know if we did it”.
August 2019
415 ppm CO2
(Ok คือธารน้ำแข็งแห่งแรกที่สูญเสียสถานะของตัวเองไป ในอีก 200 ปีข้างหน้าธารน้ำแข็งทั้งหมดของเราก็คงมีสภาพไม่ต่างกัน อนุสรณ์นี้คือสิ่งเตือนใจเราว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เราตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ต้องทำ และมีเพียงคุณเท่านั้นที่รู้ว่าเราทำได้หรือไม่)
คำจารึกที่สลักลงในแผ่นหินนี้เขียนขึ้นโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rice และ Andri Snær Magnason นักเขียนชาวไอซ์แลนด์ ส่วนคำว่า “415ppm CO2” หมายถึงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่ทำการวัดค่าไว้ได้เมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนมิถุนาที่ร้อนที่สุดในยุโรปที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 และคาดว่าปีต่อไปอุณหภูมิก็จะยังคงสูงขึ้นอีก สิ่งที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดก็คือสิ่งมีชีวิตในทะเล เพราะเมื่อกระแสน้ำอบอุ่นขึ้นก็จะทำให้วิถีชีวิตของพวกมันเปลี่ยนแปลงไปและทำลายห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้น้ำมีความเป็นกรดสูงขึ้น และการละลายของน้ำแข็งจะทำให้ความเค็มของน้ำทะเลลดลง รวมไปถึงฤดูกาลที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกอีกด้วย
ข้อมูลจาก Amusingplanet
(16998)