ทากยักษ์สีชมพูแห่ง Mount Kaputar ในออสเตรเลีย

สำหรับใครที่ชื่นชอบเรื่องราวของสัตว์แปลก เราขอแนะนำให้รู้จักกับ หอยทากยักษ์แห่ง Mount Kaputar ทางตอนเหนือของนิวเซาต์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

หอยทากชนิดนี้เป็นหอยทากแบบไม่มีเปลือกแข็ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Triboniophorus aff. graeffei มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าอัลไพน์บนยอดเขาอันโดดเดี่ยว ซึ่งมีลำตัวยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร และมีสีชมพูเรืองแสง พวกมันจะคืบคลานออกมาหากินในคืนที่ฝนตก อาหารสุดโปรดของพวกมันก็คือเชื้อราและมอสที่ขึ้นบนต้นไม้ แต่พืชไม่ใช่อาหารเพียงชนิดเดียวของมันเท่านั้น เพราะพวกมันเป็นนักฆ่าสุดโหดที่กินหอยทากชนิดอื่นเป็นอาหารด้วย

เจ้าหอยทากนี้ถือเป็นหอยทากกินเนื้อ 1 ใน 3 ชนิดที่อยู่บนภูเขาแห่งนี้ โดยใช้วิธีคลานไปตามร่องรอยเมือกของหอยทากชนิดอื่นเพื่อสะกดรอยเหยื่อของมัน

ผู้คนในท้องถิ่นสามารถพบเห็นพวกมันได้ทั่วไปหลังฝนตก Michael Murphy เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่ากล่าวว่า เพียงแค่เดินออกไปรอบๆ คุณก็พบพวกมันได้เป็นร้อยๆ ตัวแล้ว

ป่าฝนของภูเขา Kaputar มีระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัว มันเป็นเหมือนเกาะเล็กๆ ที่มีขนาดเพียง 100 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่กลับเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถพบเห็นได้ที่อื่นใดบนโลก

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นร่องรอยของดินแดนยุคดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่าเดิมพื้นที่ทางตะวันออกของออสเตรเลียเคยเต็มไปด้วยป่าฝนและอาจจะสูญหายไปนานแล้ว หากภูเขาไฟไม่ปะทุขึ้นเสียก่อนเมื่อประมาณ 17 ล้านปีที่แล้ว การปะทุครั้งนั้นเองที่ส่งผลให้เกิดดินแดนอันอุดมสมบูรณ์บนยอดเขาท่ามกลางพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสายพันธุ์พืชที่มีลักษณะเฉพาะตัวยังดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลาหลายล้านปี ในขณะที่พื้นที่รอบๆ เริ่มแห้งแล้งลง

ที่มา Amusingplanet

(777)