ไข่ไดโนเสาร์ใกล้ฟัก

ไข่ไดโนเสาร์ใกล้ฟัก ทีมนักบรรพชีวินวิทยาขุดพบตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่หายากและเก็บรักษาไว้อย่างดีภายในไข่ ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งทำให้เห็นการพัฒนาของไดโนเสาร์ได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ไข่ฟอสซิลนี้ถูกเรียกว่า ‘Baby Yingliang’ มีอายุประมาณ 72 – 66 ล้านปี และถูกระบุว่าเป็น Oviraptorosaur ซึ่งเป็นกลุ่มของไดโนเสาร์เทอโรพอดขนนกที่มีจะงอยปากเหมือนนกแก้วไม่มีฟัน และบางชนิดมีหงอนที่สวยงาม โครงกระดูกวัดจากหัวถึงหางได้ประมาณ 23.5 ซม. ขดตัวอยู่ภายในไข่ฟอสซิลที่มีความยาวประมาณ 16 ซม.

ด้วยท่าทางที่คล้ายกับตัวอ่อนของนกสมัยใหม่ที่ใกล้จะฟักตัว มันจึงเป็นการค้นพบที่น่าทึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่การเชื่อมโยงทางวิวัฒนาการระหว่างนกสมัยใหม่กับไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นลึกซึ้งกว่าที่เคยคิดไว้

Steve Brusatte นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระกล่าวว่า ตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่อยู่ภายในไข่ของมันเป็นหนึ่งในฟอสซิลที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ไดโนเสาร์ใกล้ฟักตัวน้อยตัวนี้ดูเหมือนลูกนกที่ขดตัวอยู่ในไข่ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าลักษณะเด่นหลายประการของนกในปัจจุบันนี้วิวัฒนาการมาในบรรพบุรุษไดโนเสาร์

(63)