โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID-19 ที่กำลังระบาดเป็นวิกฤติใหญ่อีกครั้งของประเทศไทย ซึ่งในอดีตคนไทยเคยประสบโรคระบาดหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะ 3 โรคร้าย คือ กาฬโรค ไข้ทรพิษ และอหิวาตกโรค ที่แต่เดิมเราเรียกว่า “โรคห่า” และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ห่าลง” อันหมายถึงการเกิดโรคร้ายแรงที่มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก
ตอนที่ 1 โรคห่าสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตอนที่ 2 อหิวาตกโรคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนที่ 3 ภัยคุกคามจากโรคไข้หวัดใหญ่
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีโรคห่าระบาดหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นอหิวาตกโรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากมายนับแสนคน ตลอดช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา
อหิวาตกโรคเป็นโรคระบาดประจำถิ่นของประเทศในทวีปเอเซีย เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ที่ลำไส้เล็ก ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำและอาเจียน หรือ “ลงราก” บางทีจึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคลงราก” ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเสียสมดุลเกลือแร่อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิต
การแพร่เชื้อเกิดขึ้นจากการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ติดเชื้อเป็นหลัก แม้ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้ ในอดีตการสาธารณสุขยังไม่ดี จึงเกิดการแพร่เชื้อได้รวดเร็วจนมีการเสียชีวิตจำนวนมาก
สมัยรัชกาลที่ 2 เกิดการระบาดรุนแรงของอหิวาตกโรคครั้งแรกในปี พ.ศ.2363 ที่เริ่มจากอินเดียผ่านมาทางปีนัง เข้ามาถึงสมุทรปราการและพระนคร โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่และโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง แต่ด้วยเวลานั้นยังไม่มีวิธีรักษาและรู้จักการป้องกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 3 หมื่นคน
หลังจากนั้น 2 ปี มีการระบาดอีกครั้งในพระนคร แต่ไม่ร้ายแรงเท่าการระบาดปี 2363 ครั้งนี้มีพระเจ้าน้องยาเธอสิ้นพระชนม์พระองค์หนึ่งด้วย
ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2392 ที่เรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา” หนนี้เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 นอกจากที่สมุทรปราการและพระนคร ยังระบาดไปยังเมืองต่างๆ อีกหลายแห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 4 หมื่นคน
มีบันทึกว่าในพระนครมีศพจำนวนมากจนเผาไม่ทัน ต้องวางกองกันอยู่ในวัดต่างๆ และเกลื่อนกลาดตามถนนหนทาง ประชาชนต้องอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความหวาดกลัว
ในสมัยรัชกาลที่ 4 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2403 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 เริ่มเกิดขึ้นที่เมืองตาก แล้วระบาดมาถึงพระนคร แต่ครั้งนี้ไม่รุนแรงนัก
สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการระบาดใหญ่ 4 ครั้ง เริ่มจากปี พ.ศ. 2416 เกิดการระบาดตรงกับช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 4 ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2424 ตรงกับช่วงระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 5 ภายหลังมีการระบาดใหญ่อีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2435 และ พ.ศ. 2443 แต่ไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้
จนหลังปี พ.ศ. 2460 ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีข้อมูลบันทึกจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่ในประเทศไทยอีก 5 ครั้ง ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2461-2463 การระบาดของอหิวาตกโรคจากพม่าเข้าภาคเหนือ แล้วแพร่ไปภาคใต้ ภาคอีสาน มีผู้ป่วย 15,413 ราย เสียชีวิต 13,518 ราย
ครั้งที่ 2 เกิดอหิวาตกโรคคระบาดไปทั่วพระนครและธนบุรี และพื้นที่ 52 จังหวัด กินเวลานาน 5 ปี จากปี พ.ศ. 2468-2472 มีผู้ป่วย 21,591 ราย เสียชีวิต 14,902 ราย
ครั้งที่ 3 ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระหว่างปี พ.ศ. 2478-2480 อหิวาตกโรคระบาดจากพม่าเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วระบาดไปพื้นที่ 40 จังหวัด มีผู้ป่วย 15,557 ราย เสียชีวิต 10,005 ราย
ครั้งที่ 4 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2486-2490 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในหมู่คนงานทำทางรถไฟที่เมืองกาญจนบุรี แล้วแพร่ไป 50 จังหวัด โรคระบาดอยู่นาน 5 ปี มีผู้ป่วย 19,169 ราย เสียชีวิต 13,036 ราย
ครั้งที่ 5 หลังจากหายไปนาน 10 ปี อหิวาตกโรคกลับมาระบาดระหว่างปี พ.ศ. 2501-2502 เริ่มจากธนบุรี แพร่ไปพระนคร และภูมิภาคอีก 38 จังหวัด ระบาดนาน 1 ปี 6 เดือน มีผู้ป่วย 19,359 ราย เสียชีวิต 2,372 ราย
จนต่อมามีการฉีดวัคซีนป้องกัน อหิวาตกโคจึงไม่มีการระบาดรุนแรงอีก โดยในปี 2532 ประเทศไทยได้ยกเลิกการรายงานโรคอหิวาตกโรค ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยโรคนี้อยู่ประปราย แต่เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นโรคอุจจาระร่วมอย่างแรง
บรรยายภาพ
ภาพ แร้งวัดสระเกศรุมทึ้งซากศพ ช่วงอหิวาตกโรคระบาดปี 2434 (จากหนังสือระบาดบันลือโลก)
(3726)