ใครเคยเห็นตัวจริงบ้าง แม่หอบ หรือ จอมหอบ (Mud lobster, Mangrove lobster) เป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง ในสกุล Thalassina ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไมโอซีนหรือเมื่อ 16 ล้านปีก่อน
การที่ได้ชื่อในภาษาไทยว่า “แม่หอบ” เนื่องจากมีความเชื่อว่า เนื้อของแม่หอบสามารถรักษาอาการหอบหืดได้ จึงนิยมนำมาเผาไฟรับประทานกันในอดีต สอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ Thalassina ที่หมายถึง “การย้อนกลับทางเดินหายใจ” เพื่อให้เหงือกไม่มีสิ่งสกปรก
พวกมันมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปู โดยขาคู่แรกขนาดใหญ่คล้ายก้ามปู นอกจากใช้เดินแล้วยังทำหน้าที่ขุดรูและขนดินสร้างรัง หัวเหมือนกุ้งมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีแดงเข้มเป็นปล้อง ๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหาง ลักษณะคล้ายแมงป่อง มีขนาดความยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร
มันมีถิ่นอาศัยตามป่าชายเลน โดยจะขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูงแล้วอาศัยอยู่ในรูใต้กองดินนั้น สามารถอยู่บนบกได้เป็นเวลานานกว่าครัสตาเซียนจำพวกอื่น ๆ กินอาหารจำพวกอินทรีย์สารที่อยู่ในดินเลนในเวลากลางคืน
ในประเทศไทยพบได้เฉพาะบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันพบได้ยากมาก เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่ทำให้ประชากรลดลง ในต่างประเทศพบได้ที่รัฐเกรละ ในอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น ไปจนถึงชายฝั่งทะเลของปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียทางตอนเหนือและตะวันตก รวมถึงฟิจิและซามัว
สถานะปัจจุบันของแม่หอบ ถือได้ว่าใกล้ต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบางตายง่าย เช่น ในช่วงฤดูมรสุมน้ำทะเลอาจท่วมรูของแม่หอบ จนทำให้แม่หอบตายได้
ภาพ Ron Yeo
(578)