เสาชิงช้า สถาปัตยกรรมโบราณของกรุงเทพฯ

เสาไม้คู่สีแดงที่ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเวลานานกว่า 236 ปีนั้น ครั้งหนึ่งเคยใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกรุงเทพมหานคร

ย้อนไปช่วงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กำหนดให้พื้นที่บริเวณเสาชิงช้าเป็นจุดศูนย์กลางของพระนคร หรือ “สะดือเมือง” จึงโปรดฯ ให้ตั้งเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และสร้างเสาชิงช้าขึ้น เพื่อรักษาธรรมเนียมการสร้างพระนครตามอย่างโบราณ โดยถือคติว่าจะทำให้พระนครมีความมั่นคงแข็งแรง

เสาชิงช้าสร้างขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2327 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ 2 ปี สำหรับใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย- ตรีปวาย ที่จัดขึ้นเดือนยี่ (มกราคม) ของทุกปี เพื่อต้อนรับพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมโลกตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันเป็นพระราชพิธีสำคัญหนึ่งในพระราชพิธี 12 เดือน ที่สืบต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เสาชิงช้าเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่มีความสูง 21.15 เมตร เสาไม้แกนกลางคู่ประกบด้วยเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ทำด้วยไม้สักกลึงกลม ที่โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน

เสาไม้ตั้งอยู่บนแท่นหินฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัวลูกแก้ว) ด้วยหินสีขาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.50 เมตร พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้นทั้ง 2 ด้าน ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้าไว้

ความที่ทำจากเสาไม้ เมื่อผ่านกาลเวลาจึงชำรุดผุพังต้องบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีการถอดเสาชิงช้าคู่เดิมออกเปลี่ยนเป็นคู่ใหม่จนถึงปัจจุบัน

เดิมเสาชิงช้าอยู่ตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ จนสมัยรัชกาลที่ 5 ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 จึงเลิกพิธีไป แต่เสาชิงช้ายังถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญ โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

ทุกวันนี้เสาไม้คู่สีแดงตามแบบสถาปัตยกรรมไทยกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ประกอบกับบริเวณโดยรอบมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น วัดสุทัศน์เทพวราราม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และตึกแถวเก่าแก่ตั้งอยู่รายรอบ ทำให้บริเวณนี้เป็นย่านเมืองเก่าที่มีเสน่ห์เป็นอย่างมาก
……………………

พิธีโล้ชิงช้าในอดีต
พิธีโล้ชิงช้าในอดีต
พิธีโล้ชิงช้าในอดีต
พิธีโล้ชิงช้าในอดีต

(1429)