หมู่บ้านคลากส์ เมืองประวัติศาสตร์แห่งการผลิตรองเท้าในอังกฤษ

รองเท้าถือเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องทุกย่างก้าวของเราไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ ทำให้การก้าวเดินของเราเป็นไปอย่างปลอดภัย และสะดวกรวดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการเดินด้วยเท้าเปล่า ซึ่งในปัจจุบัน รองเท้าทำหน้าที่มากกว่าเป็นสิ่งป้องกันเท้าของเรา แต่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและบ่งบอกรสนิยมของผู้สวมใส่อีกด้วย

หมู่บ้านคลากส์ตั้งอยู่ที่เมืองสตรีท ห่างจากลอนดอนประมาณ 250 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง และเมื่อเอ่ยถึงหมู่บ้านแห่งนี้ชาวอังกฤษต่างรู้กันดีว่า ที่นี่คือเมืองแห่งประวัติศาสตร์ของการผลิตรองเท้า ภายใต้แบรนด์ Clarks โดยมีบริษัท C. and J. Clark International เป็นผู้ดูแลการผลิตและจำหน่ายสินค้ามามากกว่า 190 ปีเลยทีเดียว และมีสาขาอยู่ทั่วโลกมากกว่า 1,000 สาขาโดยมีสองพี่น้องตระกูลคลากส์ คือ ไซรัส และ เจมส์ เป็นผู้ก่อตั้งและริเริ่มการผลิตรองเท้าเพื่อการจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1825 เป็นต้นมา

ก่อนเริ่มธุรกิจการผลิตรองเท้า ไซรัสได้ทำธุรกิจการผลิตพรม และมีเจมส์ น้องชายทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและทำงานในโรงงาน ต่อมา เจมส์ได้ทดลองทำรองเท้าทรงสวมจากพรมขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า The Brown Petersburg ซึ่งเป็นรองเท้าทรงสวยที่ใส่สบายและปกป้องเท้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้คนในซัมเมอร์เซต และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังเขาจึงขอเป็นหุ้นส่วนการผลิตและการทำธุรกิจมากกว่าที่จะเป็นเพียงผู้ช่วยในโรงงานผลิตเหมือนเดิม นับตั้งแต่นั้นมา C. and J. Clark International จึงได้ถือกำเนิดขึ้น และมีครอบครัวคลาร์กเป็นผู้ดูแลธุรกิจรายใหญ่ของบริษัทแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

เทคนิคในการผลิตคือการนำวัสดุกันน้ำมาตัดเย็บ เพื่อให้รองเท้าที่ผลิตขึ้นมีทั้งความสวยงามและคงทนทุกสภาพอากาศ เพราะในอังกฤษนั้นมีสภาพอากาศที่แปรปรวนและมักจะมีฝนตกอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้การพัฒนาเทคทิคการตัดเย็บรองเท้าแบบไร้รอยตะเข็บด้านในของรองเท้า ทำให้ผู้สวมรองเท้ามีความรู้สึกสบายเท้าขณะที่สวมใส่มากขึ้น รวมถึงการออกแบบโดยคำนึงถึงความแตกต่างของสรีระของเท้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญใที่ทำให้รองเท้าเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมาย

ปัจจุบัน รองเท้าคลากส์ได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี บราซิล เวียดนาม จีน โรมาเนีย อินเดีย โดมินิแกน ฯลฯ ส่วนโรงงานเดิมที่เมืองสตรีทได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นเอาท์เล็ตสำหรับจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคลากส์ในราคาที่ย่อมเยา

หมู่บ้านคลากส์ยังคงอนุรักษ์รูปแบบวิถีชีวิตและอาคารบ้านเรือนแบบบวิถีชนบท และมีพิพิธภัณฑ์รองเท้าที่ยังคงอนุรักษ์ความเก่าแก่ของสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 19 เอาไว้ได้เป็นอย่างดี และภายในก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับรองเท้า และจัดแสดงรองเท้าที่มีความสำคัญจากทั่วโลกไว้มากมายอีกด้วย

Clarks Shoe Museum, Street

ข้อมูลจาก วารสารอพวช.

(1937)