มูลนิธิสำรวจโลก ร่วมกับ กทปส.ประกาศผลงานสารคดีดีเด่น จากโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่น ครั้งที่ 2

มูลนิธิสำรวจโลกและกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานผลิตสารคดีตามโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่น และภูมิภาค เพื่อผลิตรายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลงานทั้งหมด 60 เรื่อง ซึ่งมีงานสารคดีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานดีเด่น 6 เรื่อง โดยผลงานเหล่านี้มาจากผู้เข้าร่วมการอบรมจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ได้งานสารคดีที่สะท้อนเรื่องราวของท้องถิ่นและภูมิภาคตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสื่อโทรทัศน์ ให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตรายการสารคดีเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ นักศึกษา และประชาชน ที่มีความรู้พื้นฐานด้านผลิตสื่อโทรทัศน์ สมัครเข้าร่วมการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมีผู้สนใจสมัครจำนวนทั้งสิ้น 540 คน ได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมจำนวน 300 คน โดยแบ่งออกเป็นภูมิภาคละ 10 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 60 กลุ่ม

จากการอบรมความรู้สู่การผลิตเป็นผลงานสารคดีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562ปรากฏผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจและได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นผลงานดีเด่น จำนวน 6 เรื่องซึ่งจะมีการประกาศผลในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 และมอบเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาทต่อทีม พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ณ ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากร ผลิตสื่อโทรทัศน์ในเชิงสร้างสรรค์ผลักดันองค์ความรู้ต่างๆ อันเป็นประโยชน์สู่ภาคประชาชนและเยาวชน โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์เนื้อหารายการที่มีสาระเพื่อการเรียนรู้ของคนไทยในอนาคตต่อไป

นายอมรภัทร ชมรัตน์ ประธานมูลนิธิสำรวจโลก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการจัดทำโครงการครั้งที่ 2 มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่นและภูมิภาคให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตสารคดีเพื่อการเรียนรู้โดยผู้ที่ผ่านการอบรมได้มีการผลิตผลงานสารคดีจากเรื่องราวที่น่าสนใจในท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการฯ ในการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวความรู้จากท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้ชม นอกจากจะเป็นการสร้างมาตรฐานในการผลิตสารคดีเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ จากผู้มีความรู้ความสามารถในท้องถิ่นต่างๆ ให้กับคนภายนอกได้รับรู้แล้ว ยังช่วยสร้างสมดุลระหว่างรายการจากผู้ผลิตในกรุงเทพมหานครกับผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
“ปัจจุบันเนื้อหารายการส่วนใหญ่ผลิตโดยผู้ผลิตจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเรื่องราวของท้องถิ่นต่างๆ ทำให้มีเนื้อหาที่มาจากมุมมองของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ การมีผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นจะช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่างและเป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงออกสู่สังคมภายนอก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้ชม ทำให้รู้จักและเข้าใจท้องถิ่นของไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพผลงานจากผู้ผลิตระดับท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าผู้ผลิตจากกรุงเทพฯ”

ทางมูลนิธิสำรวจโลกมีความคาดหวังว่าบุคลากรที่ผ่านการอบรมครั้งนี้จะมีส่วนในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานสารคดีของไทยให้ปรากฏสู่สายตาผู้ชมโทรทัศน์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนสารคดีที่ผลิตจากต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น

ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตสารคดีเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งจะช่วยขยายตลาดของอุตสาหกรรมการผลิตสารคดีของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้น และนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกับภาพยนตร์บันเทิงต่างๆ

ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดมีความต้องการงานสารคดีโทรทัศน์มากขึ้น แต่ยังมีบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญด้านงานสารคดีจำนวนจำกัด ทางมูลนิธิจึงมีแนวคิดที่จะจัดโครงการอบรมและพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่นฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตรายการสารคดีได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของตลาดในอนาคต

ประธานมูลนิธิสำรวจโลก กล่าวสรุปว่า การจัดโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่นฯ ครั้งที่ 2 นี้ ถือว่ามีผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจสมัครเป็นจำนวนมากขึ้นจากครั้งแรก และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมมีความตั้งใจจริงที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ ทำให้ผลงานสารคดีที่ผลิตออกมามีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่นำเสนอ การเล่าเรื่อง ไปจนถึงเทคนิกการถ่ายทำและตัดต่อ ทางมูลนิธิจึงคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งต่อๆ ไปจะได้รับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตรายการสารคดีมากขึ้นอีก

ประกาศผลงานสารคดีดีเด่น
จากโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่น ครั้งที่ 2
ประกาศผลงานสารคดีดีเด่น
จากโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่น ครั้งที่ 2

(111)