สายรุ้งคู่ ภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติที่งดงามนี้ เป็นภาพที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในหมวดภาพจากโทรศัพท์มือถือ ในงานประกวด Weather Photographer of the Year 2021 โดย Susan Kyne Andrews จากประเทศไอร์แลนด์ ระหว่างที่เธอพาสุนัขออกไปเดินเล่นบนชายหาดใน Greystones ทางตะวันออกของไอร์แลนด์ เมื่อแสงแดดยามเย็นส่องกระทบกับละอองฝนที่อบอุ่น ก็เกิดเป็นสายรุ้งที่สวยงามสองสาย เธอจึงยกโทรศัพท์ขึ้นมาเก็บความสวยงามและสงบเงียบของหาดแห่งนี้เอาไว้
รุ้งกินน้ำตัวที่ 1 หรือ รุ้งปฐมภูมิ เป็นรุ้งกินน้ำโค้งที่ชัดที่สุดที่เราเห็นกันเป็นประจำ โค้งสีแดงจะอยู่บนสุด และโค้งสีม่วงจะอยู่ล่างสุด รุ้งปฐมภูมิเกิดจากการที่แสงหักเห 2 ครั้ง และสะท้อน 1 ครั้ง (หักเห-สะท้อน-หักเห)
รุ้งกินน้ำตัวที่ 2 หรือ รุ้งทุติยภูมิ เป็นรุ้งกินน้ำที่ชัดน้อยกว่า และจะเกิดอยู่เหนือรุ้งกินน้ำตัวที่ 1 โดยที่ลำดับสีของสายรุ้งจะสลับกับลำดับสีของรุ้งปฐมภูมิ คือโค้งสีแดงจะอยู่ล่างสุด และโค้งสีม่วงจะอยู่บนสุด รุ้งทุติยภูมิเกิดจากการที่แสงหักเห 2 ครั้ง และสะท้อน 2 ครั้ง (หักเห-สะท้อน-สะท้อน-หักเห)
ในธรรมชาติ เราจะเห็นรุ้งกินน้ำได้อย่างมาก 2 ตัวเท่านั้น แต่ทางทฤษฎีเนื่องจากแสงสามารถสะท้อนมากกว่า 2 ครั้งในหยดน้ำ จึงสามารถทำให้เกิดรุ้งตัวที่ 3 4 5 ไปได้เรื่อยๆ
(85)