โรงพยาบาลโรคติดต่อแห่งแรกของไทย

ทำไมชื่อ “บำราศนราดูร” มักจะถูกกล่าวถึงทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดในประเทศไทย รวมทั้งการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19

เริ่มจากในปี พ.ศ.2448 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อแห่งแรกของไทยขึ้นบริเวณปากคลองสาน ธนบุรี เพื่อรับผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายโดยเฉพาะ

แต่ในปี พ.ศ.2487 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในพระนครและธนบุรี โรงพยาบาลแห่งนี้รองรับผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ ต่อมาจึงมีการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่บริเวณถนนดินแดง เรียกว่า โรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท

ปี พ.ศ.2501 – 2502 เกิดโรคระบาดรุนแรงในพระนคร คร่าชีวิตของผู้เจ็บป่วยไปมากมาย ขณะนั้นพระบำราศนราดูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการควบคุมโรคจนสงบลง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นพึงพอใจในผลงานรัฐมนตรีท่านนี้มาก เห็นว่าทำงานด้วยความแข็งขันและมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการสร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อแห่งใหม่ที่จังหวัดนนทบุรี จึงเสนอชื่อโรงพยาบาลตามชื่อของรัฐมนตรีท่านนี้ว่า โรงพยาบาลบำราศนราดูร

จนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โรงพยาบาลบำราศนราดูร ถูกเปลี่ยนโครงสร้างมาเป็น “สถาบันบำราศนราดูร”
ปัจจุบันสถาบันบำราศนราดูร เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทสำคัญทางวิชาการด้านโรคติดต่อในระดับนานาชาติ และให้บริการรักษาผู้ป่วยจากโรคติดต่อเป็นสำคัญ

สำหรับพระบำราศนราดูร หรือนายแพทย์หลง เวชชาชีวะ เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี ศึกษาวิชาแพทย์ และเข้ารับราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระบำราศนราดูร” ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2502 – 2512 และเป็นต้นสกุล “เวชชาชีวะ” ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6

พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ)
พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ)

(627)