ชิ้นส่วนในร่างกายมนุษย์ที่ไม่มีในตำรา

ชิ้นส่วนในร่างกายมนุษย์ที่ไม่มีในตำรา ทีมนักวิจัยใน University of Basel ของสวิตเซอร์แลนด์ ค้นพบกล้ามเนื้อกรามซึ่งไม่เคยมีการยืนยันในตำรากายวิภาคมาก่อน

กล้ามเนื้อนี้เป็นชั้นกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่เชื่อมระหว่างด้านหลังของกระดูกแก้มกับกล้ามเนื้อด้านหน้าของขากรรไกรล่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรที่เรียกว่า Masseter muscle ซึ่งตำรากายวิภาคศาสตร์สมัยใหม่ได้อธิบายถึงกล้ามเนื้อบริเวณนี้ว่ามีสองชั้น และมีตำราเพียง 2-3 ฉบับที่กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่ากล้ามเนื้อนี้อาจมีชั้นที่สามอยู่ ทีมวิจัยจึงตัดสินใจที่จะหาว่ากล้ามเนื้อนี้มีอยู่จริงหรือไม่

พวกเขาศึกษาส่วนศีรษะอาจารย์ใหญ่จำนวน 12 ร่างที่ถูกแช่ฟอร์มาลีนไว้ และตรวจสอบด้วยซีทีสแกนศพใหม่อีกจำนวน 16 ร่าง รวมถึงตรวจ MRI ในผู้ป่วยที่ยังมีชีวิต พบว่ามีกล้ามเนื้อชั้นในที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง จากการจัดเรียงของเส้นใยกล้ามเนื้อคาดว่ามันน่าจะช่วยยึดขากรรไกรล่างให้คงที่ด้วยการ “ยกและหด” และเป็นเพียงส่วนเดียวของมัดกล้ามเนื้อที่สามารถดึงกระดูกขากรรไกรให้เคลื่อนที่ไปข้างหลังได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเคี้ยว

ชั้นกล้ามเนื้อที่เพิ่งค้นพบนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “Musculus masseter pars coronidea” ข้อมูลเกี่ยวกับชั้นของกล้ามเนื้อนี้จะช่วยให้แพทย์ดำเนินการผ่าตัดบริเวณกรามได้ดีขึ้น และรักษาสภาวะที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อที่เชื่อมระหว่างกระดูกขากรรไกรกับกะโหลกศีรษะได้มากขึ้น

ภาพ Annals of Anatomy

(82)