เม็กกาโลดอนใหญ่ได้แค่ไหน ภาพของชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในกรามของเม็กกาโลดอนที่จัดเรียงใหม่ โดย Bashford Dean เมื่อปี 1909 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา
เม็กกาโลดอน (Megalodon) คือฉลามที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยพบมา เดิมใช้ชื่อวิทยาศาตร์ว่า Carcharocles megalodon แต่ปัจจุบันได้มีการพิจารณาใหม่ให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Otodus megalodon เป็นฉลามขนาดใหญ่ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีขนาดประมาณ 11-14 เมตร พวกมันมีชีวิตอยู่ราว 23-2.6 ล้านปีก่อน คือช่วงไมโอซีนตอนต้นถึงไพลโอซีน แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรแถบอเมริกาใต้ พวกมันกินได้ทุกอย่าง รวมถึง ‘ออโดเบ็นโอเซ็ทออป’ วาฬยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับนาวาฬในปัจจุบัน
เรื่องราวในภาพยนตร์ระบุว่าเม็กกาโลดอนมีขนาดใหญ่ราว 22-27 เมตร ซึ่งเกินความเป็นจริงไปมาก เนื่องจากการคาดคะเนขนาดและรูปร่างของมันจากฟอสซิลฟันขนาดใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ ซึ่งมีความยาว 16.8 เซนติเมตร ทำให้ประมาณได้ว่าเม็กกาโลดอนน่าจะมีขนาด 16-18 เมตร เท่ากับรถบัสสองชั้นจำนวนสองคันต่อกัน และอาจมีน้ำหนักได้ถึง 100 ตัน
การที่โครงกระดูกของฉลามส่วนใหญ่เป็นกระดูกอ่อน ทำให้แทบไม่หลงเหลืออวัยวะที่แข็งพอจนสามารถกลายเป็นฟอสซิลให้เราศึกษาได้ การคาดคะเนว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างอย่างไรแน่จึงทำได้ยาก แม้คนส่วนใหญ่และภาพยนตร์ฮอลลีวูดจะจินตนาการให้มันมีลักษณะคล้ายฉลามขาว (Great white shark) ที่ตัวใหญ่ขึ้น 30 เท่า แต่ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก
หลักฐานจากรอยกัดบนฟอสซิลกระดูกวาฬและโลมาที่มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับเม็กกาโลดอนชี้ว่า พวกมันคืออาหารของฉลามยักษ์ดึกดำบรรพ์นี้อย่างแน่นอน ซึ่งดร.ปีเมียนโตเห็นว่าเม็กกาโลดอนมีความสามารถในการหาอาหารที่น่าทึ่ง เพราะร่างกายที่ใหญ่โตต้องการอาหารปริมาณมากในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม ดร. ปีเมียนโตคาดว่าขนาดตัวที่ใหญ่มหึมา ไม่น่าจะทำให้เม็กกาโลดอนมีนิสัยเป็นผู้ล่าที่ว่องไวมากนัก แต่อาจจะเป็นนักกินซากตัวฉกาจมากกว่า “ฉลามเป็นเผ่าพันธุ์นักฉวยโอกาส ถ้ามันเจอสัตว์ที่ล่าได้ก็จะล่า แต่ถ้าเจอซากก็ไม่ลังเลที่จะกินเหมือนกัน หากเม็กกาโลดอนยังมีชีวิตอยู่ มนุษย์อาจเป็นมื้ออาหารที่เล็กน้อยเกินไปจนไม่คุ้มที่จะใช้พลังงานออกล่า”
(2294)