ในปี พ.ศ.2499 เกิดข่าวดังไปทั่วประเทศว่ามีผู้ลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เครื่องทองโบราณและอัญมณีจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและยึดของกลางได้บางส่วน จึงทราบจากปากคำของคนร้ายว่าในกรุยังมีของอีกจำนวนมาก
กระทั่งกรมศิลปากรเข้าตรวจกรุและขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 พบว่ากรุพระปรางค์วัดราชบูรณะมีทั้งหมด 3 ห้องใหญ่ เรียงกันลงไปแนวดิ่ง โดยชั้นล่างสุดอยู่ระดับพื้นดิน
ห้องกรุที่ 1 อยู่บนสุด ทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 1.40 เมตร สูง 1.50 เมตร หลังผนังทำเป็นช่องเล็ก ๆ ใส่พระพิมพ์และพระพุทธรูปไว้จนเต็ม ภายในนั้นคนร้ายพบพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตัก 1 ศอก 3-4 องค์
ห้องกรุที่ 2 เป็นชั้นกลาง ทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 1.40 เมตร สูง 2.75 เมตร เก็บเครื่องทองจำนวนมากที่ถูกกลุ่มโจรลักลอบขนออกไป ห้องนี้ผนังห้องทั้ง 4 ด้านเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยสีชาด ทุกด้านมีซุ้มลึกเข้าไปในผนัง ด้านทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ยกเว้นทิศใต้ มีโต๊ะสำริดเล็กๆ ใช้วางเครื่องทอง และผ้าทองซึ่งคนร้ายให้การว่าแค่สัมผัสก็ป่นเป็นผง
ห้องกรุที่ 3 เป็นห้องในสุดและมีความสำคัญที่สุดเพราะบรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษาอย่างดีในเจดีย์ทองคำ ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปต่างๆ
ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าชมกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะได้ ส่วนเครื่องทองและโบราณวัตถุอื่นๆ ที่ทีมของกรมศิลปากรค้นพบนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(4420)